กรมวิชาการเกษตรร่วม Asia Fruit Logistica จัดงานผลไม้ผู้ส่งออกระดับโลก มุ่งเป้ายกระดับโครงสร้างผลไม้ทั้งระบบ

03 Nov 2022

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เข้าร่วมงาน Asia Fruit Logistica 2022 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) ซึ่งจัดงานระหว่างวันที่ 2-4 พฤศจิกายน 2565 โดยงานนี้เป็นงานแสดงสินค้าผักและผลไม้สดอันดับหนึ่งของเอเซีย และในปี 2565 นี้ มีการจัดนิทรรศการอย่างยิ่งใหญ่เพื่อฉลองครบรอบการจัดงาน 15 ปี

กรมวิชาการเกษตรร่วม Asia Fruit Logistica จัดงานผลไม้ผู้ส่งออกระดับโลก มุ่งเป้ายกระดับโครงสร้างผลไม้ทั้งระบบ

การจัดงานครั้งนี้ครอบคลุมห่วงโซ่การแสดงสินค้าและบริษัทในอุตสาหกรรมผลิตผลไม้สดทั้งหมดจนถึงบริษัทที่สนับสนุนด้านบริการ ตลอดจนผลิตภัณฑ์และแนวคิดที่เป็นนวัตกรรม นำเสนอโอกาสพิเศษในการพัฒนาธุรกิจใหม่ รวมถึงเพิ่มองค์ความรู้การผลิตให้เกษตรกรเชื่อมโยงเครือข่ายการค้าระหว่างกัน และรวบรวมข้อมูลตลาดที่สำคัญในทุกแง่มุมของการค้าผลิตผลไม้สดทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย ซึ่งกรมวิชาการเกษตรให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

ในโอกาสนี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้เข้าเยี่ยมชมบูทของราชอาณาจักรสเปน พร้อมพบปะเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย นายเอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย รวมถึงเยี่ยมชมบูท ประเทศสหรัฐอเมริกา และพบปะเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค โดยมีการแลกเปลี่ยนหารือประเด็นการยื่นขอเปิดตลาดผลไม้ของไทยกับทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงการนำเข้าผลไม้สู่ประเทศไทย และประเด็นความร่วมมือด้านการค้าและการเกษตรด้านต่างๆ

นอกจากนี้ยังเยี่ยมชมบริษัทที่มาจัดแสดงในงานจากประเทศต่างๆ เช่น จีน ออสเตรีเลีย ญี่ปุ่น ซาอุดิอาระเบีย พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลถึงขั้นตอนการนำเข้าผลไม้สู่ประเทศไทย การบริการด้านการนำเข้า ข้อกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการขอเปิดตลาดผลไม้ของประเทศต่างๆ และการส่งออกผลไม้ของไทย ตามนโยบาย Fruit Board ที่มุ่งมั่นเพิ่มปริมาณการส่งออกผลไม้ของไทย รวมถึงการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบและแนวทางการบริหารจัดการผลไม้

อนึ่งประเทศไทยมีการส่งออก ผลไม้ ไปยังตลาดต่างประเทศซึ่งอันดับแรกคือ จีน คิดเป็น 84.75 % ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด ตามมาด้วย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2565 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกผลไม้สดทั้งหมด 2.82 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกผลไม้สูงถึง 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งจากการคาดการณ์การส่งออกผลไม้ในปี 2566 จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยมี จีน เป็นลูกค้ารายใหญ่มีปริมาณการส่งออกผลไม้สด 2.39 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.59 แสนล้านบาท คาดการณ์ว่าการส่งออกจะมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาท

ปี 2565 ต่อเนื่องถึงปี 2566 กรมวิชาการเกษตรได้มีการยื่นขอเปิดตลาดสินค้าผลไม้เพิ่มเติมจากที่ส่งออกเดิมไปยังหลายประเทศ อาทิ จีน (อินทผลัม เสาวรส สละ) ซาอุดิอาระเบีย (ขุยมะพร้าว) สหรัฐอเมริกา (ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง มังคุด เงาะ สับปะรด แก้วมังกร ส้มโอ) ญี่ปุ่น (มะม่วง ส้มโอ มังคุด) และ ออสเตรเลีย (ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง มังคุด สับปะรด) ซี่งจะเป็นการขยายโอกาสของผลไม้ไทยสู่ตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า นางสาว มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร คุมเข้ม คุณภาพ ผลไม้ส่งออกทุกชนิดโดยเฉพาะมาตรฐานทุเรียน ส่งออกไปจีนพร้อมกับสั่งเดินหน้าปรับรหัสสวน GAP รูปแบบใหม่ เพื่อให้ทันการขึ้นทะเบียนส่งออกไปยังประเทศจีนรอบต่อไป ป้องกันการสวมสิทธิ์ เตือนผู้ประกอบการ และโรงคัดบรรจุรายใดส่งทุเรียนด้อยคุณภาพ ซึ่งกระทบต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจ และผิดเงื่อนไขตามพิธีสารส่งออกผลไม้ไทยจีน ถือเป็นความผิดทางอาญา

ทั้งนี้ในงาน Asia Fruit Logistica กรมวิชาการเกษตรจัดนิทรรศการให้ความรู้ ในเรื่องการบริหารจัดการผลไม้ การใช้มาตรฐาน GAP GMP ในกระบวนการผลิตผลไม้ การนำเสนอขั้นตอนการนำเข้าผลไม้สดสู่ประเทศไทยตาม พรบ.กักพืช การใช้ระบบ E-Phyto ในการบริการการส่งออกให้กับเอกชน พร้อมจัดแสดงตัวอย่าง ทุเรียน มังคุด มะม่วง ลำไย อะโวกาโด เพื่อโชว์ความพร้อมของประเทศไทยในการส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศอย่างมีศักยภาพ สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทย ด้วย

HTML::image(