ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวเปิดงาน SynBio Forum 2022 "SynBio for Sustainable Development Goals" ชีววิทยาสังเคราะห์เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 จัดขึ้น ณ ห้องประชุม SD-601 ชั้น 6 อาคารสราญวิทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผ่านระบบออนไลน์
ดร.กาญจนา กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของหน่วยงานร่วมทั้ง 17 หน่วยงาน จากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการศึกษาของไทย ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาคมด้านเทคโนโลยีชีวภาพและแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพ ที่จะนำไปสู่แนวทางการสร้างความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับนานาชาติ และเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาวาระที่สำคัญนี้ ภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์ หรือ SynBio Consortium จึงได้จัดทำร่างแผนที่นำทางการพัฒนาชีววิทยาสังเคราะห์ในระยะเวลา 8 ปี (พ.ศ. 2565 - 2573) เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือและเป้าหมายในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในประเทศไทยและระดับภูมิภาค นอกจากนี้ยังเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของชีววิทยาสังเคราะห์ที่จะมาเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมไทย ซึ่งวิสัยทัศน์ของแผนที่นำทางนี้คือ "ชีววิทยาสังเคราะห์สร้างเศรษฐกิจใหม่และขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy Model)
สำหรับศักยภาพของชีววิทยาสังเคราะห์และเทคโนโลยีชีวภาพในประเทศไทย ดร.กาญจนา กล่าวว่า มีการคาดการณ์ถึงตลาดชีววิทยาสังเคราะห์ของโลกว่าจะอยู่ที่ 30.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. 2569 ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในหลายประเทศ อาทิ จีน เดนมาร์ก เยอรมนี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา หันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนและการพัฒนากำลังคนในด้านนี้มากขึ้น ชีววิทยาสังเคราะห์จึงถือว่าเป็นความหวังใหม่ของประเทศไทย ที่นอกจากจะตอบโจทย์ในด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นแนวทางที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตร การค้นพบตัวยาชนิดใหม่ หรือแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
ประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ที่มีความหลายหลากทางชีวภาพ 1 ใน 36 แห่งทั่วโลก ที่มีความได้เปรียบในแง่ขอทรัพยากรธรรมชาติ จึงถือเป็นโอกาสของเราที่จะนำเทคโนโลยีใหม่นี้ มาใช้เพื่อปลดล็อกศักยภาพ และสร้างโอกาสที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในอนาคต (New S-curve) ตัวอย่างของสินค้าที่ใช้นวัตกรรมด้านชีววิทยาสังเคราะห์เข้าไปช่วยในการผลิตและมีการลงทุนในประเทศไทยแล้ว เช่น การผลิตสารให้ความหวานจากหญ้าหวาน, การผลิตวัคซีน mRNA ในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ, เส้นใยคุณภาพสูงจากโปรตีน, การใช้จุลินทรีย์ทดแทนสารเคมีในกระบวนการบำบัดของเสีย ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้มีสารเคมีรั่วไหลออกไปให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ดร.กาญจนา ยังได้ให้ข้อมูลถึงแนวทางการพัฒนาด้านการศึกษาในประเทศไทย ที่มีนักวิจัยและมหาวิทยาลัยได้พัฒนาหลักสูตร รวมถึงมีความพยายามร่วมกันที่จะหาแนวทางส่งเสริมการพัฒนาทักษะหรือสร้างทักษะใหม่ (Upskill/Reskill) ในการพัฒนากำลังแรงงาน เพื่อสนับสนุนการลงทุน จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 44 จาก 141 ประเทศทั่วโลกที่มีการจัดอันดับการเผยแพร่บทความวิชาการด้านชีววิทยาสังเคราะห์ และผลงานส่วนใหญ่ยังอยู่เพียงในห้องปฏิบัติการเท่านั้น จึงเป็นอีกความท้าทายที่จะต้องมองหาแนวทางนำเอาต้นแบบและงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จริง รวมถึงนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะความร่วมมือในการสร้างความเข้มแข็งแบบสามประสาน (Triple Helix) ระหว่างมหาวิทยาลัย ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ โดยมีความมุ่งหวังว่าความร่วมมือนี้จะช่วยสร้างให้เกิดสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (DeepTech Startup) และยูนิคอร์นตัวใหม่ ให้กับประเทศไทยได้
สำหรับบทบาทของกระทรวง อว. ได้ริเริ่มแนวคิดเศรษฐกิจบีซีจี โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ และเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย จึงได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ขึ้น และอุตสาหกรรมใหม่อย่างชีววิทยาสังเคราะห์ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน ด้านการสนับสนุนการให้สิทธิประโยชน์และแนวทางความร่วมมือ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment of Thailand: BOI) ได้จัดให้มีการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยสิทธิประโยชน์จะแตกต่างไปตามความเข้มข้นของกิจกรรม เช่น หากมีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่เคยมีมาก่อนก็จะได้สิทธิประโยชน์ขั้นสูงสุด เป็นต้น
นอกจากนี้ ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลได้มีการลงทุนพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) ที่มีการสนับสนุนในแง่ของสิ่งอำนวยความสะดวก การมีเมืองนวัตกรรมชีวภาพ หรือ Biopolis และมีแพลตฟอร์มความร่วมมือทั้งระดับมหาวิทยาลัยสู่ระดับธุรกิจ และระดับธุรกิจกับธุรกิจ ที่เชื่อมโยงกันทั้งในประเทศและในระดับโลกด้วย และเร็วๆ นี้ จะมีการร่วมทุนระหว่างกลุ่มพันธมิตรในหน่วยรับจ้างพัฒนาและผลิตระดับอุตสาหกรรม (Contract Development and Manufacturing Organization: CDMO) ถือเป็นแพลตฟอร์มการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นี่จึงเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ในงานยังได้มีการเปิดเวทีอภิปรายในหัวข้อ ชีววิทยาสังเคราะห์และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน "แนวทางการเชื่อมโยงชีววิทยาสังเคราะห์ของโลกกับเศรษฐกิจไทย (SynBio and SDGs "How to Link Global SynBio with Thai Economy) และการจัดกิจกรรมระดมความเห็นกลุ่มย่อย 5 แผนงานหลัก ในการใช้ชีววิทยาสังเคราะห์ เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและบีซีจี โดยแบ่งเป็น 1) การผลักดันงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์และพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีขั้นสูง (Research to Market & DeepTech Startup Development) 2) โครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม (RDI Infrastructure) 3) กฎหมายและระเบียบโดยทั่วไป (General Legal & Regulation) 4) การลงทุนและการให้ทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Investment & Strategic Funding) และ 5) สถาบันการศึกษาด้านชีววิทยาสังเคราะห์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนากำลังคน (SynBio Academy (Manpower) )
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit