เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะผู้บริหาร รับมอบห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ (The Huo-Yan Air Laboratory) จากมูลนิธิด้านการกุศล (Mammoth Foundation) สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งห้องปฏิบัติการดังกล่าวได้พัฒนาโดยบริษัทบีจีไอ จีโนมิกส์ (BGI Genomics) จำกัด จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้แก่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3 ห้อง เพื่อสนับสนุนประเทศไทยในการรับมือ กับโรคโควิด 19 และโรคระบาดอื่นๆ ที่เป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขของประเทศ ภายใต้การประสานงาน ของสถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย โดยมี นายหาน จื้อเฉียง (H.E. Mr.Han Zhiqiang) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และคณะ เป็นตัวแทนมอบ พร้อมด้วย Mr.Sujie Cao รองประธาน บริษัท BGI Genomics จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายอนุทิน กล่าวว่า ในนามรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ขอขอบคุณรัฐบาลจีน และมูลนิธิด้านการกุศลของจีนที่มีความปรารถนาดีให้กับประเทศไทยตลอดมา มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศและมีความมุ่งมั่นที่ต้องการจะแก้ไขสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ร่วมกัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้สนับสนุนข้อมูลและแนวทางการควบคุมการระบาดโควิด 19 ได้บริจาคทั้งเวชภัณฑ์ ยา วัคซีนให้แก่ประเทศไทย ใช้ต่อสู้กับโรคโควิด 19 ทำให้สถานการณ์เริ่มมีแนวโน้มลดลง และในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับโรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งระบบการดูแลต่างๆ มีความพร้อม ทั้งนี้เพื่อให้คนไทยเดินหน้าใช้ชีวิตตามปกติและขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาเข้มแข็งขึ้น
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่หัว-เหยี่ยน (The Huo-Yan Laboratory) ถือกำเนิดขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศจีน มีการวางระบบห้องปฏิบัติการที่ถูกต้องตามมาตรฐาน เพื่อใช้ในการตรวจหาเชื้อไวรัสก่อโรคและเพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ทั้งด้านเทคนิคและการบริการภายในอย่างครบครัน โดยห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่หัว-เหยี่ยนแห่งแรกได้เริ่มทำการติดตั้งที่ธนาคารพันธุศาสตร์นานาชาติแห่งประเทศจีน (China National Gene Bank) ในนครเซินเจิ้น มีลักษณะเป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ที่ประกอบไปด้วยระบบจัดการของเสียทางการแพทย์ เครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ Real-time PCR เครื่องถอดรหัสทางพันธุกรรมและเทคโนโลยี การตรวจหาเชื้อไวรัส นอกจากนี้โครงสร้างของห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่หัว-เหยี่ยนถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการแปลงความดันบวกและลบจากระบบควบคุมความดันและอากาศบริสุทธิ์อัจฉริยะ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตและประหยัดพลังงานในการก่อสร้าง ทำให้ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่นี้ใช้เวลาเพียงแค่ 24 ชั่วโมงในการเตรียม และติดตั้งเพียงแค่ 2-3 วันก็พร้อมใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมกับการวางระบบกระแสไฟฟ้าแบบรวม และระบบการระบายอากาศที่ดีเยี่ยม รองรับการวิเคราะห์ตัวอย่างมากกว่า 5,000 ตัวอย่างต่อวัน สามารถช่วยคัดกรองเป้าหมายและบรรเทาวิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งยิ่งใหญ่ในสังคมได้ ปัจจุบันห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่หัว-เหยี่ยนได้ติดตั้งไปแล้วกว่า 102 ห้อง ใน 38 ประเทศทั่วโลก
"ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่นี้จะมีประโยชน์มาก เนื่องจากสามารถจัดเก็บและเคลื่อนย้ายไปติดตั้งในสถานที่ต่างๆ เป็นเทคโนโลยีที่แก้ปัญหาเรื่องข้อจำกัดด้านต้นทุนและระยะเวลาในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ มีความยืดหยุ่นสูงรวมทั้งสามารถปรับให้เหมาะสมตามความต้องการใช้งาน และนำไปใช้กับงานอื่นในระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post pandemic) ได้ เช่น งานห้องปฏิบัติการชีวเคมี งานห้องปฏิบัติการภูมิคุ้มกันวิทยา งานตรวจวินิจฉัย ณ จุดดูแลผู้ป่วย (Point of care testing หรือ POCT) กระทรวงสาธารณสุขจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน" นายอนุทิน กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit