ณ อาคาร มิตรทาวน์ ออฟฟิศ : สำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (สมสท.) ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)(TCELS) และพันธมิตรสำคัญจาก Standards and Interoperability Lab Thailand (SIL-TH), H LAB และโรงพยาบาลสระบุรี ร่วมกันจัดงาน "GETTING START with FHIR :The most practical and popular data standard in healthcare" พร้อมเดินหน้าผลักดันให้"ข้อมูลสุขภาพ"ในไทยเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขครบทุกมิติ โดยมี นายแพทย์ดาวฤกษ์ สินธุวณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย(สมสท.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา
นายแพทย์ดาวฤกษ์ สินธุวณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (สมสท.) กล่าวว่า "เนื่องจากทุกวันนี้"ข้อมูลสุขภาพ"พื้นฐานในระบบสาธารณสุขของไทยมีความซับซ้อนมาก บวกกับเทคโนโลยีที่แต่ละหน่วยงานนำมาใช้ในองค์กรของตนก็ต่างระบบกัน ในประเทศไทยเองถ้าหากนำระบบเทคโนโลยีเชื่อมต่อข้อมูลที่มีมาตรฐานระดับสากลเหล่านั้นมาปรับประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประเทศของเรา เป็นตัวกลางการเชื่อมต่อ"ข้อมูลสุขภาพ"ทั้งระบบสาธารณสุขของประเทศ ย่อมจะก่อให้เกิดผลดีต่อทุกภาคส่วน ส่งผลดีทั้งในแง่ของภาคโรงพยาบาลจะได้มีการบริหารจัดการที่ดี ภาคประชาชนก็จะได้รับการบริการที่มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัยขึ้นเป็นลำดับครับ"
ด้าน นายแพทย์รัฐ ปัญโญวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการ สำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (สมสท.) หนึ่งในวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้าน FHIR profiling & SNOMED-CT สอนเวิร์กชอปในงานนี้ กล่าวว่า "ทาง สมสท. เป็นหน่วยงานที่มีความแข็งแรงในด้านการเก็บข้อมูลสุขภาพในไทย จากการศึกษาเรื่องมาตรฐานการเชื่อมต่อระบบ"ข้อมูล" พบว่า FHIR นั้นถูกออกแบบมาได้ค่อนข้างสมบูรณ์ ใช้งานได้ง่าย อีกทั้งยังมีเครื่องมือต่างๆรองรับจำนวนมาก ทาง สมสท. เล็งเห็นว่าระบบนี้จะเป็นเครื่องมือที่เพิ่มความสะดวกให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จำเป็นต้องใช้ได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งได้ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขได้นำไปพิจารณาในการยกระดับเพื่อการพัฒนาเชื่อมต่อฐาน"ข้อมูลสุขภาพ"โดยรวมเรียบร้อยแล้ว และสำหรับการจัดงานเผยแพร่ความรู้ในครั้งนี้ มีผู้คนสนใจมาร่วมเวิร์กชอปเป็นจำนวนมาก ต่อจากนี้ไปทั้ง 2 ภาคส่วนนี้ คงต้องทำงานควบคู่สอดรับกันไปเรื่อยๆ เพื่อร่วมกันพลิกโฉมระบบสาธารณสุขไทยในทุกมิติให้เกิดขึ้นครับ"
คุณกมลวัทน์ สุขสุเมฆ ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ H LAB ผู้นำ Health Tech สตาร์ทอัพแถวหน้าของเมืองไทยที่นำเอาแนวทางของ FHIR มาพัฒนาเป็นนวัตกรรมต่อยอดในเชิงธุรกิจในประเทศและกำลังวางแผนไปตลาดโลก รวมถึงยังเป็นวิทยากรในงานนี้อีกด้วย กล่าวว่า "ทาง H LAB เริ่มศึกษาระบบ FHIR อย่างจริงจังเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจาก บริษัทเราปรับกลยุทธ์จากเดิมเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านไอที (IT Consultant) เปลี่ยนมาเป็นให้บริการด้านไอที (IT Solution) แบบครบวงจร ด้วยเหตุนี้ ทางบริษัทจึงมองหาระบบมาตรฐาน"ข้อมูลสุขภาพ"ที่ต้องตอบโจทย์มาตรฐานระดับสูงสุด ใช้งานง่าย มีความปลอดภัย ที่สำคัญต้องทำหน้าที่เชื่อมต่อกับทุกระบบที่ต่างกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยเหตุนี้บริษัทเราจึงนำแนวทางของ FHIR ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสหรัฐอเมริกา และตอบทุกโจทย์ความต้องการของ H LAB นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในด้านการออกแบบการเก็บข้อมูล, ออกแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพราะ FHIR สามารถผูกเข้ากับระบบมาตรฐานอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบ SNOMED-CT ซึ่งเป็นระบบ"จัดการคำศัพท์ทางการแพทย์ที่สำคัญต่อการลงข้อมูลในทุกจุดของการรักษาพยาบาล" นั่นเอง เรียกได้ว่าตอนนี้ทางบริษัทของเราใช้ FHIR ในการให้บริการงานด้านไอทีแบบครบวงจรเลยทีเดียว
"H LAB ตั้งเป้าไว้ว่าอยากจะเข้าไปแก้ไขปัญหาและช่วยพัฒนาระบบของทางโรงพยาบาลให้ดีขึ้นทั้งในการบริหารจัดการ,บุคลากร,การเบิกจ่าย เป็นต้น ซึ่งตอนนี้ ทางบริษัทมีลูกค้าที่ให้ความไว้วางใจในการเข้าไปดูแลวางระบบไอทีทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ เช่น โรงพยาบาลศิริราช ซึ่ง H LAB มีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการเข้าไปแก้ไขปัญหาให้โรงพยาบาลในไทยก่อนเป็นอันดับแรก และหลังจากนั้นภายใน 3 ปี จะขอไปชิงส่วนแบ่งการตลาดในต่างประเทศต่อไป และตั้งเป้าเติบโตของรายได้อยู่ที่ 200 ล้านบาทต่อปี เพราะตอนนี้เริ่มมีโรงพยาบาลจากต่างประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สนใจติดต่อมาทางH LAB เป็นที่เรียบร้อย" คุณกมลวัทน์ กล่าวทิ้งท้าย
ตบท้ายกันที่ นายแพทย์อนันต์ กมลเนตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี ถือเป็นโรงพยาบาลที่มีวิสัยทัศน์ เป็นโรงพยาบาลต้นแบบในการยอมรับและนำ FHIR มาใช้งานได้จริง กล่าวว่า "ในอดีตที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลสระบุรีมีปัญหาเรื่อง "การจัดการข้อมูล"และ"การวิเคราะห์ข้อมูล" เนื่องจากมีฐานจัดเก็บ"ข้อมูล"ที่ไม่ได้มาตรฐานทำให้เวลาส่งต่อ"ข้อมูลสุขภาพ"ไปยังหน่วยงานอื่นๆ เพื่อทำการวิเคราะห์และเบิกจ่ายในด้านต่างๆ เกิดความยุ่งยากและเสียเวลา เนื่องจากฝ่ายไอทีต้องแปลง"ข้อมูล"ให้เข้ากับแต่ละระบบของหน่วยงานนั้นๆ เพื่อให้เชื่อมต่อกันได้ ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลต่อการออกนโยบายบริหารงานเป็นอย่างมาก แต่หลังจากติดตั้ง FHIR แล้ว ทำให้ทีมไอทีลดเวลาทำงานลง และมีเวลาไปทำงานเพื่อเพิ่มคุณภาพตามนโยบายของโรงพยาบาลในด้านอื่นๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น เช่น ทาง รพ. มีแอปพลิเคชันที่หลากหลาย ทำให้คนไข้-ประชาชน ที่เข้ามาใช้บริการเกิดความสะดวกสบาย ได้รับการบริการที่รวดเร็วทันใจ ตอบโจทย์การเข้ารับบริการได้ตรงจุดมากขึ้นครับ" นายแพทย์อนันต์ กล่าวสรุปอย่างน่าสนใจ
ภายในงานนี้ ยังมีวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาร่วมให้ความรู้ เช่น นพ.ธนภพ ณ นครพนม แพทย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, นพ.ศุภฤกษ์ ถวิลลาภ หัวหน้ากลุ่มสารสนเทศ กองระบาดวิทยาควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, นพ.เดโชวัต พรมดา CEO & FOUNDER of HEALTHTAG, นายพงษ์ชัย เพชรสังหาร CEO & CO-FOUNDER of Dietz & อุปนายกสมาคมเฮลท์เทคไทย, คุณปฏิภาณ ประเสริฐสม ผู้จัดการโครงการ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ(สวข.)(GBDi), นพ.กวิน สิริกวิน หัวหน้างานพัฒนาคุณภาพสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, ภก.ณัฐดนัย ไทยพิพัฒน์ เภสัชกร โรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น ทำให้ผู้เข้าร่วมงานกว่า 50 ท่านได้รับความรู้กันเต็มที่
สำหรับผู้ที่สนใจ สอบถามเกี่ยวกับ FHIR สามารถติดต่อเข้ามาขอคำปรึกษาได้ที่ สำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (สมสท.) โทร. 02-027-9711 อีเมล : [email protected] หรือ H LAB ที่ปรึกษาและผู้พัฒนาระบบบริหารจัดการในโรงพยาบาล ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบคิวและการนัดหมายออนไลน์ มือถือ 063-446-7740 หรือ www.hlabconsulting.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit