บราเดอร์ เดินหน้าสานต่อกลยุทธ์การพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ในไทย หลังสถานการณ์ทางธรรมชาติเริ่มทวีความรุนแรงและเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น ล่าสุดจับมือทุกภาคส่วนของชุมชนพื้นที่ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลน จ.สมุทรสาคร กลุ่มลูกค้าของบราเดอร์ และพันธมิตรทางธุรกิจ ร่วมจัด 'โครงการอาสาอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติป่าชายเลน ครั้งที่ 14' ปรับเป้าหมายเพิ่มอัตรารอดของป่าชายเลนปลูกใหม่ เพื่อพัฒนาวงจรชีวิตทางธรรมชาติให้เกิดขึ้นจริงอย่างยั่งยืน
นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงนโยบายด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมว่า บราเดอร์สำนักงานใหญ่ และเครือข่ายบราเดอร์ทั่วโลก ให้ความสำคัญอย่างมากต่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนดังปรัชญาทางธุรกิจที่ยึดถือมากว่า 100 ปี 'at your side' ที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะอยู่เคียงข้างสังคมและธรรมชาติอย่างเข้าใจและพร้อมส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง บราเดอร์จึงได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานของบริษัทในเครือทั่วโลกภายใต้กลยุทธ์การพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2593 โดยมุ่งเน้นใน 3 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย เพิ่มการหมุนเวียนทรัพยากรสูงสุด ส่งเสริมให้เกิดสังคมที่ไร้คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ และสร้างผลลัพธ์สุทธิที่เป็นบวกในระบบนิเวศน์ผ่านนโยบาย Environmental Vision พ.ศ. 2593 โดยการดำเนินโครงการต่างๆ นับจากนี้จะมุ่งที่ผลลัพธ์ของการดำเนินงานเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ นอกจากการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับนโยบาย SDG ของสหประชาชาติแล้ว บราเดอร์ ทั่วโลก ยังปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เชื่อมโยงกับนโนยายด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของแต่ละประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจด้วยเช่นกัน จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero greenhouse gas emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 เพื่อแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนหลังจากที่พบว่า ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงสุดในโลก
ด้านวิกฤติภัยทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในทุกๆ ปี ทำให้บราเดอร์ได้ปรับแนวคิดในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยให้ความสำคัญกับผลสำเร็จหรือคุณภาพมากกว่าปริมาณที่ได้ลงมือทำในแต่ละโครงการ และได้ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อแนวทางการดำเนินงานเพื่อลดภาวะก๊าซเรือนกระจกสู่โลก (CO2 emission) หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติบนโลก โดยภายในปี พ.ศ. 2593 บราเดอร์ ตั้งเป้าลดปริมาณ "ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2" ให้ได้ถึง 30% ด้วยการดำเนินการภายในองค์กรตลอดจนส่งเสริมภาคสังคมในด้านต่างๆ ที่มีบทบาทในการช่วยลด CO2 ด้วยเช่นกัน "การจัดโครงการอาสาอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติป่าชายเลนนับจากนี้ บราเดอร์ จะเน้นติดตามให้เกิดผลสำเร็จ โดยเราจะให้ความสำคัญสูงสุดต่อจำนวนต้นไม้ที่รอดชีวิต เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ต่อไป ทั้งนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าอัตราการรอดชีวิตของป่าชายเลนปลูกใหม่ลดน้อยลงอย่างชัดเจน เนื่องจากต้นกล้าไม้โกงกางที่ปลูกใหม่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ซึ่งปัญหาที่เกิดนี้ทำให้บราเดอร์ต้องปรับแนวทางการทำงานใหม่เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของต้นกล้าเหล่านั้นให้สูงขึ้น" นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กล่าวถึงการปรับแผนการดำเนินงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชุมชน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ด้านนายพรภัค อุไพศิลป์สถาพร ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินงานภายใต้นโยบาย SDGs ของบราเดอร์นั้น มุ่งหวังที่จะส่งเสริมให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น ทั้งยังต้องการผลักดันให้ชุมชนเรียนรู้ที่จะใช้ทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากสมาชิกภายในชุมชน ภาคธุรกิจ และเหล่าพนักงานบราเดอร์ ประเทศไทยเพื่อต่อยอดการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบไม่มีวันสิ้นสุด
สำหรับ 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ของสหประชาชาตินั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโลกใบนี้ให้ดีขึ้นภายในปี พ.ศ. 2573 โดยให้แต่ละประเทศมีอิสระในการเลือกเป้าหมายเพื่อให้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญในการพัฒนาของประเทศเพื่อประสิทธิผลสูงสุด "การที่ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงสุดในโลก ทำให้บราเดอร์ได้ให้ความสำคัญต่อเป้าหมายในการพัฒนาโครงการอาสาอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติป่าชายเลนให้สอดคล้องกับแผน SDG ของสหประชาชาติ 2 ประการ ประกอบด้วย 1. การปฎิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น 2. อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการจัดโครงการอาสาอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติป่าชายเลนที่ทำต่อเนื่องมาตลอด 14 ปี เพื่อฟื้นคืนสภาพป่าชายเลนที่ถูกทำลายให้กลับมามีสภาพที่ดีขึ้น ให้ระบบนิเวศน์กลับมาดำเนินได้อย่างสมบูรณ์ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์อนุบาลสัตว์น้ำ ช่วยป้องกันการกัดเซาะผืนดินชายฝั่งทะเล และสร้างอาชีพแก่ชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น เราเชื่อว่าต้นกล้าของโครงการเกือบ 10,000 ต้นนี้ จะเป็นจุดเริ่มที่ตั้งต้นจากความตั้งใจของทุกภาคส่วนทางสังคม เพื่อคืนกลับระบบนิเวศน์ให้เป็นแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตอีกครั้ง ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนได้อย่างไม่มีวันหมด โดยบราเดอร์จะสานต่อการทำกิจกรรมเพื่อสังคมเหล่านี้ เพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมที่บราเดอร์มีส่วนร่วมให้เกิดพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้น ส่งเสริมคุณภาพชีวิต เพื่อให้เกิดสังคมแห่งความสุขอย่างยั่งยืน" นายพรภัค อุไพศิลป์สถาพร สรุปที่มาและเป้าหมายของโครงการในครั้งนี้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit