สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับบริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เผยผลสำรวจภาวะโภชนาการในเด็กแบบเจาะลึก จากโครงการ SEANUTS II โดย รศ.ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดี ส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรในประเทศ ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาด้านอื่นๆ
ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเรื่องความเข้มแข็งทางด้านอาหารและโภชนาการของชาติ จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำสำรวจภายใต้โครงการ SEANUTS (South East Asian Nutrition Surveys) เพื่อให้เข้าใจถึงข้อมูลเชิงลึก ที่เป็นปัจจัยอันส่งผลต่อภาวะโภชนาการของเด็กในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคอาหาร หรือพฤติกรรม-การใช้ชีวิตของเด็กที่เกี่ยวข้องต่อสุขภาพ ซึ่งการสำรวจครั้งนี้ (ปีพ.ศ. 2562 - 2564) เป็นการสำรวจครั้งที่สอง หลังจากที่ได้ดำเนินการครั้งแรกไปเมื่อปี พ.ศ. 2553-2554 โดยการสำรวจครั้งล่าสุดใน มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 มาเป็นปัจจัยเพิ่มเติมที่น่าสนใจ"
ด้าน รศ.ดร.นิภา โรจน์รุ่งวศินกุล ที่ปรึกษาสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการ SEANUTS II ของประเทศไทย เปิดเผยว่า "ภาวะทุพโภชนาการในเด็กยังคงเป็นปัญหาหลักในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยเด็กไทยมีประเด็นทางสุขภาพที่ยังน่าเป็นห่วง ได้แก่ น้ำหนักเกินเกณฑ์และอ้วน ซึ่งพบในเด็กอายุ 7 - 12 ปี มากกว่า 30% ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีเผชิญกับภาวะโลหิตจางที่สูงถึง 50% การบริโภคอาหารและปริมาณพลังงาน-สารอาหารที่ได้รับในแต่ละวันที่ไม่สมดุล รวมถึงมีกิจกรรมกลางแจ้งที่ลดลงถึง 32%
ในขณะที่ ดร. โอฬาร โชว์วิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการนำผลสำรวจมาต่อยอด ว่า "จากผลสำรวจ SEANUTS II มีหลายส่วนที่น่าสนใจ แม้สถานการณ์โดยรวม ทั้งในเรื่องการบริโภคอาหารเช้า หรือ ทุพโภชนาการลักษณะขาด (ภาวะแคระแกร็น) ประเทศไทยจะอยู่ในระดับที่ดีกว่าประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน แต่ยังมีอีกหลายส่วนที่เราสามารถปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นได้ อาทิ การได้รับปริมาณแคลเซียมที่ไม่เพียงพอ ทั้งๆ ที่เด็กไทยดื่มนมเป็นประจำ อย่างที่เราทราบกันดีว่า ปริมาณการดื่มนมที่แนะนำสำหรับเด็ก คือ 2-3 แก้ว / วัน แม้เด็กจะดื่มมากกว่า 4 แก้ว / สัปดาห์จึงยังอาจไม่เพียงพอ และสิ่งนี้ยังทำให้ผู้ผลิตต้องหันกลับมาดูคุณภาพและสารอาหารในนม เมื่อนมเป็นอาหารหลักที่เด็กรับประทาน ขณะที่ภาพรวมของอาเซียนทุพโภชนาการ(ทุกลักษณะ) ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่มีร่วมกันในทุกประเทศ
ทั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานตั้งเป้าที่จะเผยแพร่ให้เป็นความรู้แก่ผู้ปกครอง บุคคลทั่วไป พร้อมส่งต่อข้อมูลสำคัญไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดเป็นแผนส่งเสริมสุขภาพและโภชนาการที่จำเป็น รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพของเด็กในอนาคต เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการเด็กไทยแบบบูรณาการ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit