ในวันแรกของงานหัวเว่ย คอนเนกต์ ประจำปี 2565 หรือ HUAWEI CONNECT 2022 หัวเว่ย พันธมิตร และตัวแทนจากองค์กรภาครัฐและเอกชน ได้จัดการประชุมเพื่อสำรวจบทบาทความสำคัญของเทคโนโลยีในการสร้างโลกที่ยั่งยืนและเสมอภาค ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ของสหประชาชาติ พร้อมโชว์กรณีศึกษาและการวิเคราะห์ต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมากและหลากหลายอันดับต้น ๆ ของโลก และใกล้ที่จะเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดของโลกด้วย โดยมีการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เอเชียแปซิฟิกพลิกโฉมทางดิจิทัลเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของโลกมาก
"หน่วยงานรัฐบาลและองค์กรต่าง ๆ เริ่มมองเห็นบทบาทของเทคโนโลยีกันมากขึ้น ในการเร่งบรรลุเป้าหมาย SDG" คุณเจฟฟรีย์ โจว (Jeffrey Zhou) ประธานฝ่ายการตลาดไอซีทีของหัวเว่ย กล่าว "ภายใต้วิสัยทัศน์และพันธกิจของหัวเว่ย เราได้เปิดตัวโครงการริเริ่มเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางดิจิทัลอย่างเทคฟอร์ออล (TECH4ALL) ขึ้นมาในปี 2562 และยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั่วโลก เพื่อผลักดันโปรแกรมและโปรเจกต์ในประเทศต่าง ๆ"
ถัดจากคุณโจวก็เป็นการแถลงเปิดจากคุณริชาร์ด มาโฮนี (Richard Mahony) รองประธานระดับโลกของอินฟอร์มา เทค (Informa Tech) ซึ่งเข้ามาแชร์ปัญหาที่ทำให้การรักษาความยั่งยืนด้วยวิธีเดิม ๆ นั้นไม่ได้ผล พร้อมชี้ว่าโซลูชันที่ใช้เทคโนโลยีจะนำไปใช้เป็นตัวเร่งได้
จากนั้นตัวแทนจากยูเนสโกได้บอกเล่าภาพรวมเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของเป้าหมาย SDG ทั้ง 17 ข้อ และแนวทางในการบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นด้วยการตั้งเป้าหมายปี 2573 "แม้โดยพื้นฐานแล้วเป็นเรื่องของรัฐบาลในการผลักดันวาระ SDG แต่ข้อเท็จจริงก็คือสิ่งเหล่านั้นจะบรรลุไม่ได้หากไม่มีภาคเอกชนร่วมด้วย" คุณโมฮาหมัด เจลิด (Mohamad Djelid) ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโกในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กล่าว "เราทุกคนล้วนมีบทบาทในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ดูทะเยอทะยานแต่ก็จำเป็นต้องทำให้ได้ภายในปี 2573"
ความเท่าเทียมทางดิจิทัลเป็นขอบข่ายสำคัญที่นำมาหารือในการประชุมดังกล่าว แม้ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลค่อย ๆ หดตัวลง แต่ไม่นานมานี้ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) รายงานว่า โลกนี้ยังมีคนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ 2.7 พันล้านคน การขาดแคลนการเชื่อมต่อเครือข่าย ทักษะดิจิทัล อุปกรณ์ราคาเอื้อมถึง หรือปัจจัยเหล่านี้รวมกัน ทำให้คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงเครื่องมือดิจิทัลที่เป็นสิ่งจำเป็นในโลกที่นับวันยิ่งมีความเป็นดิจิทัลมากขึ้นนี้ "ไม่ควรมีใครถูกทิ้งให้ออฟไลน์" คุณอัตสึโกะ โอคุดะ (Atsuko Okuda) ผู้อำนวยการสำนักงานเอเชียแปซิฟิกของ ITU กล่าว "เทคโนโลยีดิจิทัลและความก้าวหน้าทางไอซีทีช่วยเร่งให้บรรลุเป้าหมาย SDG ได้เร็วขึ้น"
คุณเดวิด ลู่ (David Lu) ประธานฝ่ายกลยุทธ์และการตลาดประจำเอเชียแปซิฟิกของหัวเว่ย ได้นำเสนอความคืบหน้าล่าสุดและบทบาทของไอซีทีในโครงการเทคฟอร์ออลทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียแปซิฟิก เช่น โครงการดิจิทัลบัส (Digital Bus) ในไทย ซึ่งนำการเชื่อมต่อและทักษะดิจิทัลมาให้เด็ก ๆ ในแถบชนบท โครงการดิจิทัลวิลเลจ (Digital Village) ในอินโดนีเซีย ซึ่งให้การเชื่อมต่อราคาไม่แพงแก่ชุมชนชนบทผ่านโซลูชันรูรอลสตาร์ (RuralStar) และการนำนวัตกรรมดูแลสุขภาพทางไกลผ่าน 5G มาใช้ในชุมชนชนบทและโซลูชันการเข้าถึงข้อมูลสำหรับผู้สูงอายุในไทย โดยคุณลู่เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่างบริษัทเทคโนโลยีและองค์กรระดับโลกทำให้อนาคตของเอเชียแปซิฟิกสดใสและยั่งยืน บรรลุเป้าหมายในการไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง
อีกหัวข้อหลักในการประชุมนี้เป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยียกระดับการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยคุณชอว์น ตัน (Shawn Tan) รองประธานบริษัทซันซีป (Sunseap) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานสีเขียวชั้นนำในสิงคโปร์ ได้บอกเล่าความคาดหวังของทางบริษัทในการใช้โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำชดเชยการปล่อย CO2 รวม 4,000 ตันต่อปี โซลูชันดังกล่าวใช้โซลูชัน PV อัจฉริยะของหัวเว่ย และติดตั้งนอกชายฝั่งของสิงคโปร์
ต่อมายังคงเป็นเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยบริษัทซาราวัก ฟาเรสทรี คอร์ปอเรชัน (Sarawak Forestry Corporation) ของมาเลเซีย ได้เริ่มโครงการนำร่องแรกกับโครงการเทคฟอร์ออลของหัวเว่ย ด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานมัลติมีเดียรัฐซาราวัก กรมป่าไม้รัฐซาราวัก และองค์กรเรนฟอเรส คอนเนกชัน (Rainforest Connection) เพื่อปกป้องป่าฝนซาราวักที่เก่าแก่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกถึง 140 ล้านปี
ปัจจุบัน หัวเว่ยกำลังดูแลโปรเจกต์เทคฟอร์ออลกว่า 45 โครงการร่วมกับพันธมิตรระดับโลกกว่า 40 ราย โดยมุ่งสนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพและเสมอภาค ใช้เทคโนโลยีอนุรักษ์ธรรมชาติ พัฒนาการดูแลสุขภาพที่ทั่วถึง และบรรลุการพัฒนาที่สมดุล
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโปรเจคเทคฟอร์ออลของหัวเว่ยได้ที่
https://www.huawei.com/en/tech4all/
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit