มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดเสวนาทางวิชาการ "นำอดีตสู่ปัจจุบัน และก้าวพร้อมกันในอนาคต กับงานจักสานไทย" ในงานนิทรรศการ "เพียรสาน...งานศิลป์" โดยมีท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ แขกผู้มีเกียรติและประชาชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังการเสวนา โดยมีช่างสานงานศิลป์ชั้นครู ได้แก่ นายมะรอพี แดเนาะ ช่างฝีมือศิลปาชีพจักสานย่านลิเภา, นางพัชรินทร์ บินเจ๊ะมิง ช่างฝีมือศิลปาชีพจักสานกระจูด และ นางสาวระเบียบ สุขสุพุฒ ช่างฝีมือศิลปาชีพจักสานไม้ไผ่ลายขิด ร่วมเสวนา ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันก่อน
นายมะรอพี แดเนาะ ช่างฝีมือศิลปาชีพจักสานย่านลิเภา กล่าวว่า ตอนเด็กที่บ้านมีฐานะยากจนและเป็นครอบครัวใหญ่ ที่มีพี่น้องมากถึง ๘ คน วันหนึ่งผมได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ศูนย์ศิลปาชีพบ้านคลอแระ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งตอนนั้นผมเพิ่งเรียนจบชั้นประถม ๖ และได้เข้ามาอยู่ที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาได้เรียนรู้การแกะสลักและการทำจักสานย่านลิเภาจนมีความชำนาญ จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้เริ่มเป็นครูที่ศูนย์ศิลปาชีพบ้านโต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส และเป็นผู้บุกเบิกงานจักสานย่านลิเภาที่นี่ด้วย ปัจจุบัน ก็ยังเป็นครูอยู่ที่บ้านปาตาตีมอ อำเภอสายบุรี ซึ่งภรรยาผมก็เป็นครูสอนจักสานย่านลิเภาเช่นกัน
"ชีวิตผมและครอบครัวเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระพันปีหลวง ลูก ๆ ผมได้รับทุนการศึกษาเรียนจบระดับปริญญาตรีและมีงานที่ดี ซึ่งผมเองได้ปลูกฝังให้ลูก ๆ ทำงานจักสานย่านลิเภาในช่วงปิดเทอมและก็จะส่งผลงานกระเป๋าของลูก ๆ เข้าไปที่วังสวนจิตรลดา ผมได้รับเงินพระราชทานจากพระองค์มาเป็นทุนสะสม ทำให้ผมมีสวนลองกอง สวนยาง ปัจจุบันผมครอบครัวที่อบอุ่นมีความมั่นคงในชีวิต ผมมีความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานกับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์งานหัตถศิลป์ที่พระองค์สร้างขึ้นมาเพื่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ช่วยกันสืบสานต่อไป"
นางพัชรินทร์ บินเจ๊ะมิง ช่างฝีมือศิลปาชีพจักสานกระจูด กล่าวว่า ในอดีตตนกับสามีมีฐานะค่อนข้างยากจน ไม่มีงานไม่มีอาชีพ ด้วยความที่พี่สะใภ้ที่เป็นครูสอนจักสานกระจูดจึงได้ชักชวนให้ทำด้วยกัน ตนจึงใช้เงิน ๑๐๐ บาท ซื้อกระจูดมาสานเป็นเสื่อและขายตามตลาดนัด ขายให้แม่ค้าในชุมชน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ตนจึงได้เข้าเป็นสมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และได้ทำจักสานกระจูดเรื่อยมา โดยในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ก็ได้เริ่มส่งผลงานจักสานกระจูดเข้าประกวดและได้รับรางวัลมาตลอด แต่รางวัลที่ภาคภูมิใจที่สุดและเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตคือ การได้รับรางวัลจากสมเด็จพระพันปีหลวง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการได้รับโอกาสการเป็นครู โดยตนได้รวบรวมชาวบ้านที่มีฐานะยากจนแต่มีพื้นฐานงานจักสานกระจูดมาเป็นกลุ่มศิลปาชีพ ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิมมาเรียนด้วยกัน ปัจจุบันชีวิตเปลี่ยนไปมากลูกสาวมีโอกาสได้รับทุนการศึกษาจนเรียนจบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีหน้าที่การงานมีอาชีพที่มั่นคง ทุกคนในครอบครัวรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระพันปีหลวงเป็นอย่างยิ่ง ที่ช่วยพลิกชีวิตคนไทยที่ยากจนแร้นแค้นให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
นางสาวระเบียบ สุขสุพุฒ ช่างฝีมือศิลปาชีพจักสานไม้ไผ่ลายขิด กล่าวว่า แต่เดิมครอบครัวมีอาชีพทำนาอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรเปิด จึงได้มาสมัครเป็นนักเรียนศิลปาชีพตอนอายุ ๑๖ ปี ซึ่งการมาเรียนที่บางไทรในสมัยนั้นค่อนข้างลำบาก ต้องพายเรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไป-กลับทุกวัน ผลงานชิ้นแรกเป็นรูปทรงกลมใช้เวลาทำทั้งสิ้น ๓ เดือนได้ค่าตอบแทน ๗๐ บาท และยังได้เบี้ยเลี้ยงอีกวันละ ๔๐ บาทตลอดระยะเวลา ๓ เดือนอีกด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงได้มาเป็นผู้ช่วยครู สอนทุกอย่างที่เกี่ยวกับจักสาน เริ่มสอนที่บางไทรตั้งแต่รุ่นที่ ๓ จนปัจจุบันรุ่นที่ ๙๗ สอนรุ่นละ ๖ เดือน พอนักเรียนเรียนจบก็กลับบ้านไปทำไร่ทำนาเมื่อมีเวลาว่างก็จะทำงานจักสานส่งมาที่ศูนย์ต่างจังหวัดและส่งมาขายต่อมาที่เกาะเกิด ก็ทำให้เค้ามีรายได้เสริมอีกทาง
"เมื่อก่อนงานจักสานก็ไม่มีรูปทรงอะไรมากมายก็มีทรงรีทรงกลมแล้วก็ทรงกล่อง แต่ปัจจุบันจะต้องเน้นใส่สิ่งของได้โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเอกลักษณ์ของกระเป๋าลายขิดต้องมีลายเป็นส่วนกลางกระเป๋า อย่างที่จังหวัดสกลนครมีการสอดสานปีกแมลงทับแทรกเข้าไปด้วยซึ่งกรรมวิธียาก เพราะต้องเอาปีกแมลงทับมาขูดให้บางแล้วก็มาตัดให้เป็นเส้นตัดต่อให้เป็นเส้น ๆ ยาว ๆ ถึงจะเอามาสานกระเป๋า ในขณะที่บางไทรมีนวัตกรรมการผสมผสานลิเภากับขิดเข้าด้วยกันซึ่งถือเป็นผลงานรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีแค่ความงดงาม แปลกตา แต่ยังมีความแข็งแรงอีกด้วย ซึ่งตลอดระยะเวลาการเป็นครูกว่า ๔๐ ปี ทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมาก มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้มีเงินมีทองใช้ไม่เดือดร้อน และยังรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำงานกับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพราะได้ช่วยอนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญา ศิลปหัตถกรรมอันล้ำค่าให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้อีกด้วย"
สำหรับการเสวนาทางวิชาการในงานนิทรรศการ "เพียรสาน...งานศิลป์" ครั้งต่อไป จะจัดขึ้นในหัวข้อ "ศิลปาชีพคู่งานจักสานไทย" โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายเรื่อง "ศิลปาชีพ : แนวคิดล้ำสมัย ด้านความมั่นคงของมนุษย์" ดำเนินรายการ โดย นายวัฒนะ บุญจับ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณกรรม ในวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๐๐ -๑๕.๓๐ น. ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินกลาง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐๒-๒๘๑-๕๓๖๐-๑
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit