ภาษาไทย-ภาษาถิ่น กับการเรียนรู้อ่านออกเขียนได้ ของเด็กนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์

27 Sep 2022

เดินทางมาถึงครึ่งทางแล้ว สำหรับการประกวดเรียงความหัวข้อ "ครูใหญ่ในใจเรา" ที่ทางมูลนิธิเอเชีย ได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย (DFAT) และสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย ได้จัดขึ้น ล่าสุดได้เดินทางมาจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ที่ รร.บ้านห้วยต้มชัยยะวงศาอุปถัมภ์ จ.ลำพูน ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยง หลักสูตรการเรียนการสอนจะใช้ภาษาไทย-ภาษาถิ่น เรียนรู้ควบคู่กันไป ซึ่งประเด็นดังกล่าวทางสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย มองว่าไม่เป็นปัญหา แถมยังเป็นประโยชน์เพราะได้เปรียบทางสังคม ส่งเสริมการเรียนรู้ และช่วยรักษาวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่ตลอดไป

ภาษาไทย-ภาษาถิ่น กับการเรียนรู้อ่านออกเขียนได้ ของเด็กนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์

ดร.พัชรี สินิฐฎา อุปนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ ทุกคนที่เป็นคนไทยจึงต้องเรียนรู้ภาษาไทย เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสาร โดยเฉพาะนักเรียนไม่ว่าจะอยู่ภาคไหนก็ตามต้องเรียนภาษาไทยที่เป็นภาษากลาง เพราะจะเป็นพื้นฐานความรู้ การอ่านตำราต่างๆ ก็จะพัฒนาไปสู่ความรู้ขั้นสูงได้โดยง่าย สำหรับภาษาถิ่นนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เพราะแสดงถึงสภาพแวด ล้อม พื้นที่ ความเป็นอยู่ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้คน หากเราละทิ้งไป, อับอาย หรือเห็นว่าไม่สมควรนำมาใช้ และไม่สืบทอด ก็จะสูญหายไปได้ คนที่มีทั้งภาษาถิ่นและศึกษาภาษาไทยควบคู่กันไป ถือว่าเป็นผู้ที่ได้เปรียบทางสังคม เพราะมีทั้งหมู่พวกพ้องเดียวกัน และยังเจริญก้าวหน้าทางการเรียนรู้เพิ่มเติมมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ภาษายังเป็นวัฒนธรรมที่แสดงตัวตน ที่ไม่ว่าจะไปพูดที่ไหนก็แสดงความเป็นตัวตน กลุ่มก้อนหรือชาติพันธุ์เดียวกัน และเมื่อมาอยู่ในประเทศไทยก็ต้องถือว่าทุกคนเป็นคนไทย มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน การที่เราได้ทั้งภาษาถิ่นและภาษาไทยภาคกลาง เมื่อได้เรียนรู้เพิ่มเติมมากขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้สามารถนำความรู้ไปพัฒนากลุ่มหรือชาติพันธุ์ตนเอง ให้ก้าวหน้าได้อย่างแน่นอน"

ด้าน ดร.ธราธร ตันวิพงษ์ตระกูล ผู้อำนวยการ รร.บ้านห้วยต้มชัยยะวงศาอุปถัมภ์ อ.ลี้ จ.ลำพูน ได้กล่าวว่า "การจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการเขียนเรียงความ และการประกวดในหัวข้อครูใหญ่ในใจเรา ถือเป็นกิจกรรมที่ดี และมีประโยชน์ต่อโรงเรียนของเรามาก เพราะเด็กนักเรียนที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชนเผ่า เขาจะสื่อสารพูดคุยกันในโรงเรียนด้วยภาษาปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยงเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การพูดภาษาไทยจึงไม่ค่อยชัดเจน เมื่อพูดไม่ชัดจึงทำให้เขียนไม่ชัดเจนตามไปด้วย การที่มีกิจกรรมประกวดเรียงความขึ้นมาก็จะทำให้เด็กนักเรียนได้ไปแก้ไขในจุดนี้ และจะทำให้เขาแตกฉานในเรื่องการใช้ภาษาไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงเรียนก็มีนโยบายเน้นในเรื่องการอ่านออกเขียนได้ หากนักเรียนมีแค่ความคิด แต่ไม่สามารถนำไปสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ ก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งครับ"

สำหรับกิจกรรมการประกวดเรียงความหัวข้อ "ครูใหญ่ในใจเรา" เป็นการแข่งขันในระดับชั้น ม.1-ม.6 โดยนักเรียนทั่วทุกภาคของประเทศไทย สามารถส่งผลงานเข้าร่วมประกวด หลักเกณฑ์การตัดสินประกอบด้วยรูปแบบ, เนื้อเรื่อง, การใช้ภาษา และลายมือ โดยจะต้องเขียนด้วยลายมือตนเอง ลงบนกระดาษมีเส้นบรรทัด ด้วยปากกาสีน้ำเงินหรือสีดำ ซึ่งผู้ชนะการประกวดจะได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท (2 รางวัล), รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 15,000 บาท (2 รางวัล), รองชนะเลิศอันดับสอง 10,000 บาท (2 รางวัล) และรางวัลชมเชย 3,000 บาท (60 รางวัล) พร้อมได้รับเกียรติบัตรจากมูลนิธิฯ ทุกรางวัล

สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1epOuWZLmRGAVicZlKVbjz1lajjZjUH_N/view?usp=sharing และส่งใบสมัครพร้อมผลงานมาทางไปรษณีย์ไปที่ ดร.รัตนา แซ่เล้า มูลนิธิเอเชีย ประเทศไทย เลขที่ 38 อาคารชลันทิพย์ ชั้น 6 ถนนคอนแวนต์ แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. 10500 ได้ตั้งแต่วันนี้-31 ต.ค.65 โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook : โรงเรียนดีมีทุกที่ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 062-7341267

HTML::image(