TJRI จับมือสถานทูตญี่ปุ่น จัดงาน TJRI Business Networking Reception 2022 ตั้งเป้าสร้างโอกาสสู่การลงทุนใหม่ในไทย หวังยอดดีลธุรกิจไทย-ญี่ปุ่นโต 200%

04 Oct 2022

โครงการศูนย์วิจัยการลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย Thai-Japanese Investment Research Institute (TJRI) สร้างผลงานใหญ่ปลายปี จัดงานสัมมนาเชื่อมสัมพันธ์นักลงทุนไทย-ญี่ปุ่น TJRI Business Networking Reception 2022 เปิดทำเนียบเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นต้อนรับนักลงทุนไทย-ญี่ปุ่นกว่า 90 บริษัท ร่วมหารือ สร้างโอกาสการทำธุรกิจร่วมกัน ตั้งเป้านำองค์ความรู้ญี่ปุ่นควบรวมทรัพยากรไทยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจทั้ง 2 ประเทศ หนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน พร้อมตั้งเป้าปิดดีลธุรกิจไทย-ญี่ปุ่นโต 200% ภายในปี 2566

TJRI จับมือสถานทูตญี่ปุ่น จัดงาน TJRI Business Networking Reception 2022 ตั้งเป้าสร้างโอกาสสู่การลงทุนใหม่ในไทย หวังยอดดีลธุรกิจไทย-ญี่ปุ่นโต 200%

การจัดงาน TJRI Business Networking ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จัดงานขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น นำโดย นายคาซูยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ)  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมด้วยนักลงทุนไทย - ญี่ปุ่น จากบริษัทชั้นนำกว่า 90 บริษัท อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมพบปะทำความรู้จัก พูดคุยเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนแนวคิดแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการ "ลงทุนร่วม" กันระหว่างบริษัทไทย และญี่ปุ่น

โดยโครงการ TJRI เริ่มศึกษาหาวิธีเพื่อสร้างโอกาสการลงทุนรูปแบบใหม่ พร้อมข้อเสนอการจับคู่ธุรกิจตั้งแต่ปี 2564 และมีการจับคู่ธุรกิจมาแล้วทั้งสิ้นมากกว่า 120 ราย ประมาณการมูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านบาท โดยเชิญตัวแทนจากองค์กรขนาดใหญ่ของไทยมาร่วมเป็นวิทยากรในงานสัมมนา Open Innovation Talk เพื่อให้ข้อมูลทิศทาง และเป้าหมายในการพัฒนา และดำเนินธุรกิจ รวมถึงสิ่งที่คาดหวังกับบริษัทญี่ปุ่นให้กับนักลงทุนญี่ปุ่น และเปิดโอกาสให้บริษัทญี่ปุ่น นำเสนอ Proposal เพื่อทำความรู้จักอันเป็นจุดเริ่มต้นการร่วมสร้างธุรกิจ ทั้งยังเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการที่ไม่เคยทำงานร่วมกันระหว่างไทย-ญี่ปุ่นมาก่อน

นายคาซูยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า "ในฐานะเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในประเทศไทย ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเปิดบ้านต้อนรับกลุ่มนักลงทุนทั้งชาวไทย และชาวญี่ปุ่นให้มาทำความรู้จักกันจำนวนมากในวันนี้ ประเทศเราทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่ดีด้านการค้าการลงทุนกันมาอย่างช้านาน ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยกว่า 6,000 บริษัท ปีนี้มีบริษัทญี่ปุ่นในไทยหลายบริษัทที่มีการจัดงานครบรอบ 50 ปี 60ปี แสดงให้เห็นถึงความเป็นศูนย์กลางฐานการผลิตขององค์กรสัญชาติญี่ปุ่นอย่างแท้จริงของประเทศไทย แต่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน รวมทั้งขนาดของธุรกิจสัญชาติไทยที่ขยายตัวตามขนาดของเศรษฐกิจของประเทศในช่วงหลายสิบปีที่มีผ่านมา ทำให้สภาพแวดล้อมและกฎกติกาต่างๆในการดำเนินธุรกิจ เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ดังนั้น ญี่ปุ่นเองก็ควรปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทางโครงการ TJRI ได้พยายามส่งสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงในอนาคตให้กับบริษัทญี่ปุ่นในไทยมาโดยตลอด ซึ่งผมเองก็เห็นพ้องกับทางโครงการ จึงได้ร่วมกันจัดงานในวันนี้ให้เกิดขึ้น ซึ่งหวังว่าเอกชนที่ได้มาพบปะรู้จักกันในวันนี้จะนำโอกาสนี้ไปขยายผล และสร้างให้เกิดความร่วมมือกันในรู้แบบ Co-Creation เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนของทั้งสองประเทศต่อไป"

นายกันตธร วรรณวสุ กรรมการผู้จัดการบริษัท เมดิเอเตอร์ จำกัด ผู้ริเริ่ม และดำเนินโครงการ TJRI  กล่าวเพิ่มเติมว่า "นักลงทุนชาวต่างชาติที่ลงทุนในประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 1 ในขณะนี้คือนักลงทุนชาวญี่ปุ่น ที่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องมายาวนาน แม้ในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา การเข้ามาลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นในไทยอาจจะไม่โดดเด่นในสายตาของบุคคลทั่วไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น ค่ายยานยนต์ของจีน ทั้งยังมีปัญหาปัจจัยภายนอกเช่น ภาวะโรคระบาด การแข่งขันในระดับภูมิภาค แต่ปัจจัยภายในประเทศยังเป็นไปในทิศทางที่ดี ดังนั้นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนระหว่างประเทศให้กลับมาเติบโตต่อเนื่องตามเป้าอีกครั้งยังสามารถพัฒนาได้ และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนด้านการลงทุนระหว่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป โครงการศูนย์วิจัยการลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย Thai-Japanese Investment Research Institute (TJRI) จึงได้เกิดขึ้น โดยทาง TJRI มีเครือข่ายการทำงานกับทางญี่ปุ่นที่แข็งแกร่ง ตั้งแต่องค์กรภาครัฐญี่ปุ่น อาทิ สถานทูตญี่ปุ่น JETRO หน่วยงานภาครัฐที่มีสำนักงานในไทยทุกหน่วยงาน ผู้บริหารบริษัทญี่ปุ่นในไทย และในญี่ปุ่นรวมกว่า 5,000 ราย เครือข่ายผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ฝั่งไทยทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน อาทิ EEC / BOI รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ภายใต้การกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัท SMEs ที่เคยร่วมงานด้วยกว่า 10,000 ราย

"การจัดงานในครั้งนี้จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเกิดโอกาสในการสร้างพันธมิตรทางการค้า การร่วมทุนทางธุรกิจ หรือแม้แต่การขยายธุรกิจใหม่ๆ ได้ โดยการลดขั้นตอนในการประสานงานติดต่อทางธุรกิจให้มีความกระชับยิ่งขึ้นผ่าน Business Networking ที่แข็งแกร่ง  และหวังว่าการทำงานร่วมกับสถานทูตญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่จะได้ใช้ความเป็นตัวแทนภาครัฐ นำมาสร้างจุดเชื่อมระหว่างผู้บริหารญี่ปุ่นที่ส่งมาประจำการที่ประเทศไทยกับผู้บริหารองค์กรใหญ่ของไทยเพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องผู้บริหารองค์กรญี่ปุ่นที่มีธรรมเนียมการ rotate ผู้บริหาร และพนักงานที่ส่งไปประจำต่างประเทศ โดยมีวาระประจำการในประเทศไทยเพียง 2-3 ปี เมื่อพอจะเริ่มรู้จัก และคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมการทำงานในไทยก็มักจะครบวาระต้องกลับญี่ปุ่นพอดี ทำให้ขาดความต่อเนื่อง และการส่งต่อ connection กับองค์กรไทยของผู้บริหารคนเก่า และใหม่ ซึ่งการที่โครงการ TJRI เข้ามาเป็นตัวกลางในการจัดกิจกรรม Business Networking อย่างสม่ำเสมอ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ และยั่งยืนด้วยการดำเนินงานของบริษัทเอกชนด้วยกันเอง ไม่ต้องพึ่งกิจกรรมของภาครัฐที่มีข้อจำกัดเรื่องปีงบประมาณ"

ภาพรวมของปัญหาหลักของการพัฒนาธุรกิจร่วมกันระหว่างไทย-ญี่ปุ่นนั้น มักเป็นเรื่องของการขาดการติดต่อสื่อสาร และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ดังนั้นจากการทำงานของ TJRI ที่ได้พบปะพูดคุย และหารือกับนักลงทุนทั้งชาวไทย และชาวญี่ปุ่นมากกว่า 1,000 บริษัท ทำให้ทราบถึงช่องว่างความต้องการของแต่ละองค์กร พร้อมทั้งพยายามหาช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึง และตรงจุด ด้วยมุ่งที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง และพัฒนารูปแบบการทำงานร่วมกันให้เหมาะสมกับทั้งนักลงทุนชาวไทย และญี่ปุ่น โดยปัจจุบันทางโครงการมีการส่ง Newsletter ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการค้าการลงทุนของไทยตรงไปยังนักลงทุนญี่ปุ่นที่อยู่ในเครือข่ายของโครงการทั้งในไทย และญี่ปุ่น จำนวนกว่า 5,000 คนทุกสัปดาห์ และในไตรมาสสุดท้ายนี้ ทางโครงการจะเร่งดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพิ่มเติม เช่น Executive Interview สัมภาษณ์ผู้บริหารไทยเพื่อเขียนเป็นบทความภาษาญี่ปุ่น Business Seminar สัมมนาฝึกอมรมเกี่ยวกับประเทศไทยให้กับคนญี่ปุ่นที่มาทำงานในไทย Business Mission พานักลงทุนญี่ปุ่นไปเยี่ยมชมบริษัท และศึกษาดูงานบริษัทไทย และจัดงาน Business Networking ทุกไตรมาส"

"ทั้งนี้ ผมเชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังคงเป็นเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น แม้จะมีปัจจัยด้านการแข่งขันอื่นๆ เข้ามาสร้างแรงกดดัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าจ้างแรงงานในภูมิภาค จำนวนประชากรที่ส่งผลต่อขนาดของตลาดในประเทศ และจำนวนประเทศที่ได้ทำความตกลงเขตการค้าเสรี FTA ซึ่งส่งผลต่อการเป็นฐานการส่งออก แต่การใช้ความต้องการขององค์กรไทยเป็นที่ตั้งเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือทางธุรกิจนั้น จะช่วยทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นนำเสนอประเด็นได้ตรงกับความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยสร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนใหม่ที่เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างบริษัทไทย และญี่ปุ่น ทดแทนการ "รอ" และ "ลุ้น" ให้นักลงทุนญี่ปุ่นตัดสินใจเลือกขยายการลงทุนในไทย โดยการนำข้อมูลของประเทศไทยไปเปรียบเทียบจำนวน และอายุเฉลี่ยประชากร ค่าแรงขั้นต่ำ และโอกาสที่จะเป็นตลาดเกิดใหม่กับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แต่เราต้องใช้จุดแข็งของไทยที่ประเทศอื่นไม่มีคือ มีบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่ที่มีสำนักงาน และฐานการผลิตในประเทศของเราอยู่แล้วจำนวนมาก เพียงแต่ขาดเวทีที่จะสร้างจุดเชื่อมกับองค์กรขนาดใหญ่ของไทย เพื่อให้เกิดการหารือกันโดยตรงระหว่างภาคเอกชน จะช่วยเร่งให้การร่วมลงทุนระหว่าง 2 ประเทศสดใสต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้าอย่างแน่นอน" นายกันตธร กล่าวปิดท้าย

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ URL : tjri.org / [email protected] / 02-392-3288

TJRI จับมือสถานทูตญี่ปุ่น จัดงาน TJRI Business Networking Reception 2022 ตั้งเป้าสร้างโอกาสสู่การลงทุนใหม่ในไทย หวังยอดดีลธุรกิจไทย-ญี่ปุ่นโต 200%