ก่อนคิดจะลงทุน มาทำความรู้จัก NFT เทรนด์การซื้อขายและถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจ เหมือนหรือต่างจากเหรียญคริปโต คุ้มที่จะเสี่ยงแค่ไหน อาจารย์บัญชีฯ จุฬาฯ แนะหลักคิดการลงทุน NFT พร้อมข้อควรระวัง
NFT ชื่อของสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่กำลังมาแรงโดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ข่าวการประมูลข้อความ "ทวีตแรก" (twitter) ของโลกในรูปแบบ NFT ที่สนนราคา 2.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (90 ล้านบาท!) หรือข่าวบริษัทจัดประมูลผลงานศิลปะระดับโลกอย่าง Christie's ที่เปิดประมูลผลงาน NFT ชื่อ EVERYDAYS: THE FIRST 5000 DAYS ของ Beeple และทุบราคาประมูลที่ 2,204 ล้านบาท! ข่าวเหล่านี้ประกอบกับอิทธิพลของบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ถือครอง NFT ก่อให้เกิดกระแส NFT fever บรรดาศิลปินและนักสร้างสรรค์ ทั้งในแวดวงศิลปะ ภาพถ่าย บันเทิง เกม แฟชั่น ดนตรี และธุรกิจสร้างสรรค์ต่าง ๆ สนใจนำผลงานต้นฉบับ (original) ของตนเองเข้าสู่แพลตฟอร์มการซื้อขายในรูปแบบ NFT นักลงทุนเองก็เช่นกัน หันมาสนใจลงทุนและเก็งกำไรจาก NFT มากขึ้น
แต่ก่อนที่จะกระโดดลงไปเล่นกับเทรนด์ NFT
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น อาจารย์ประจำภาควิชาการเงินและการธนาคาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะผู้สนใจและนักลงทุนกับสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทนี้ ให้ทำความรู้จักให้ดีก่อนว่า NFT คืออะไร มีความแตกต่างจากสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่นอย่างไร ที่สำคัญ มีข้อควรระวังอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงให้ลงทุนออนไลน์ เช่นที่ปรากฏในข่าวอยุ่ทุกเมื่อเชื่อวัน
NFT คืออะไร? ต่างจากสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นอย่างไร
NFT มาจากคำว่า Non-Fungible Token คือสินทรัพย์ดิจิทัล ที่แต่ละโทเคนหรือแต่ละเหรียญมีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งไม่สามารถแทนที่กันได้ NFT จัดเป็นสินทรัพย์ cryptocurrency ชนิดหนึ่ง หากแตกต่างจากสกุลเงินคริปโตที่รู้จักกันทั่วไป เช่น Bitcoin หรือ Eth ซึ่งเป็น Fungible Token หมายถึงสินทรัพย์ที่สามารถแลกเปลี่ยนหรือแทนที่กันได้ อธิบายง่ายๆ ก็คือ แม้ ID ของแต่ละเหรียญสกุลคริปโตจะต่างกัน แต่มูลค่าของเหรียญสกุลนั้น ๆ จะเท่ากันเสมอ สามารถทดแทนกันและกันได้ เหมือนการแลกเปลี่ยนซื้อขายสกุลเงินตราต่างประเทศทั่วไป
สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล NFT นั้น แต่ละ ID จะสะท้อนลักษณะเฉพาะของ token นั้น ๆ หรือพูดง่าย ๆ ว่ามีความเป็นต้นฉบับที่ตรวจสอบได้ จึงมักนำเอางานศิลปะในรูปแบบดิจิทัล ดนตรี ไฟล์ภาพและเสียง เกมดิจิทัล หรือกระทั่งที่ดินในโลกเสมือน (metaverse) มาทำเป็น NFT ซึ่งสามารถแสดงสิทธิ์ในการเข้าถึง token ได้เฉพาะเจ้าของ NFT นั้นๆ เท่านั้น โดยมีการบันทึกข้อมูลของเจ้าของกรรมสิทธิ์ลงใน Blockchain (ระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์) อัตโนมัติทันที ไม่สามารถถูกแก้ไขได้ ทำให้ทราบโดยชัดเจนว่าใครคือเจ้าของ NFT ดังกล่าว
ยกตัวอย่างกระบวนการสร้างและซื้อขาย NFT เช่น สมมติว่าเรามีไฟล์ภาพ 1 ภาพ ที่อยากทำให้เป็น NFT ก็สามารถนำไปสร้างบนแพลตฟอร์มตลาด NFT ที่มีอยู่หลากหลาย อาทิ Opensea, Rarible, Foundation แล้วลงขายในแพลตฟอร์มดังกล่าว ทำการซื้อขายด้วยสกุลเงินดิจิทัล โดยสามารถเก็บ NFT ไว้ใน wallet (กระเป๋าเงินดิจิทัล) เช่นเดียวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ
Smart Contract กระบวนการซื้อขายดิจิทัล
ผศ. ดร.รุ่งเกียรติ อธิบายว่าในโลกของคริปโทเคอร์เรนซี จะมีสิ่งที่เรียกว่า Smart Contract หมายถึง กระบวนการทางดิจิทัล ที่กำหนดขั้นตอนการทำธุรกรรมอัตโนมัติไว้ล่วงหน้า โดยบันทึกขั้นตอนหรือข้อตกลงของธุรกรรมดังกล่าวไว้ใน Blockchain ไม่ต้องอาศัยตัวกลางหรือใช้คนมานั่งตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ทั้งยังสามารถยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมได้ด้วยตัวเอง หากธุรกรรมดังกล่าว เป็นไปตามเงื่อนไขที่ถูกโปรแกรมหรือโค้ดเอาไว้ยกตัวอย่าง Smart Contract ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ตู้กดซื้อของอัตโนมัติ (Vending machine) เมื่อเราจะซื้อของสักชิ้น หากเราจ่ายเงินหรือหยอดเงินเข้าไปตามราคาที่กำหนดไว้ ก็จะได้สินค้าจากตู้โดยอัตโนมัติ และได้เงินทอนคืนหากหยอดเงินเข้าไปเกินจำนวน ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นไปตามเงื่อนไขที่ถูกโปรแกรมหรือเขียนโค้ดเอาไว้อย่างอัตโนมัติ โดยไม่ผ่านตัวกลาง
สำหรับ Blockchain หรือเครือข่ายธุรกรรมออนไลน์ Smart Contract เปรียบได้กับโค้ดมาตรฐาน ที่หากมีการนำไปใช้ ก็จะสามารถแปลงสิ่งใดก็ได้ให้กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลได้ทันที ยกตัวอย่าง โค้ดมาตรฐานสำหรับสร้างบิทคอยน์ หรือโค้ดมาตรฐานสำหรับสร้าง NFT ดังนั้นการสร้าง NFT จึงสามารถทำได้ง่ายมาก โดยอาศัย Smart Contract ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากเช่นกัน
ตัวกำหนดมูลค่า NFT
NFT ได้รับความนิยมในหลายวงการ อาทิ วงการเกม โดยเกม NFT ที่มีชื่อเสียงที่มีการซื้อขายกัน ยกอย่างเช่น Axie Infinity และ The Sandbox ในวงการกีฬา ก็มี NFT กีฬาที่โด่งดังมากๆ คือ NBA Top Shot ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขาย NFT ทุกรูปแบบที่เกี่ยวกับ NBA หรือวงการแฟชั่นก็มีแบรนด์อย่าง Louis Vuitton ที่เปิดตัวเกม Louis the Game หรือแบรนด์ Gucci ที่มี NFT ในรูปแบบภาพยนตร์สั้น ซึ่งถูกซื้อไปในราคากว่า 934 ล้านบาท หรือแม้แต่ข้อความบน Twitter ก็สามารถขายเป็น NFT ได้เช่นกัน อย่างที่ Jack Dorsey ซีอีโอของ Twitter ได้นำโพสต์แรกของ twitter ในโลกที่ตนเองได้โพสต์ไว้เมื่อปี 2006 มาขาย โกยเงินไปกว่า 90 ล้านบาท!
ผศ. ดร.รุ่งเกียรติ กล่าวว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อราคา NFT หลัก ๆ คือบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ทั้งผลิตและถือครอง NFT จนทำให้เกิดกระแสความนิยมมากขึ้น
"เช่นเดียวกับงานศิลปะทั่วไป มูลค่าของ NFT แต่ละตัว ขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานในตลาด การให้คุณค่า และความพึงพอใจต่อ NFT นั้นๆ กล่าวได้ว่า NFT โดยตัวของมันเองไม่สามารถสร้างมูลค่าหรือรายได้ขึ้นมาโดยปราศจากการให้คุณค่าของมนุษย์"
2 สิ่งต้องคิดให้ดีก่อนลงทุนใน NFT
เมื่อมูลค่าของ NFT ขึ้นอยู่กับอุปสงค์หรือความต้องการของคนซื้อ รวมถึงกระแสความนิยมหรือแฟชั่นที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น ๆ ผศ. ดร.รุ่งเกียรติ แนะนำให้ผู้สนใจหรือนักลงทุนพิจารณา 2 ประเด็นก่อนตัดสินใจลงทุนซื้อเพื่อถือครอง NFT
"ณ วันที่คุณซื้อมา สมมติ คุณตีมูลค่า NFT ชิ้นนั้นอยู่ที่ 1 ล้านบาท มูลค่าความสุขของคุณคือ 1 ล้าน คุณเลยกล้าที่จะซื้อมันมา แต่พอวันหนึ่ง คุณจำเป็นต้องใช้เงิน เลยจะขายที่ 2 ล้านบาทหรือ 1 ล้านบาทเท่าเดิม อาจจะไม่มีคนซื้อเลยก็ได้นะ ดังนั้น ก่อนที่จะลงทุนใน NFT คุณต้องมั่นใจว่าคุณมีความสุขกับการถือครองมันจริงๆ แต่ถ้าจะเน้นเก็งกำไร ก็ต้องใช้วิสัยทัศน์ ศึกษา คาดการณ์ความต้องการในตลาด NFT ให้แม่นยำ" ผศ. ดร.รุ่งเกียรติ กล่าว
แยกแยะอย่างไร มูลค่าปลอมที่ถูกปั่นขึ้น?
อีกประเด็นที่น่ากังวลคือราคาหรือมูลค่าของ NFT ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน อาจเป็นมูลค่าปลอมที่ถูกสร้างขึ้นก็ได้ โดยการซื้อขายปั่นราคาจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือจากไม่กี่ wallet account
"ลองจินตนาการว่า ผมเปิด wallet (กระเป๋าเงินดิจิทัล) อยู่ 2-3 อัน แล้วใช้ wallet 2-3 อันดังกล่าว ซื้อขายกันไปมา เพื่อปั่นราคา NFT ที่ผมถืออยู่ให้สูงขึ้น แล้วในโลกของคริปโต ซึ่งใช้ Smart Contract ในการทำธุรกรรม ไม่มีใครมาจะมานั่งตรวจสอบหรอกว่า wallet หรือ account ที่ซื้อขายกันไปมานี้ เป็นคน ๆ เดียวกันหรือเปล่า เพราะมันไม่อนุญาตให้มีการตรวจสอบ ไม่อยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่ได้อยู่ภายใต้การเปิดเผยข้อมูล เมื่อมันไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ดังนั้น ราคาของ NFT ที่เห็นกันในปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งที่เราควรรระมัดระวังอย่างมาก"
ดูอย่างไร NFT เป็นงานซ้ำและลอกเลียนแบบหรือเปล่า
โดยทั่วไป สิ่งที่ถูกนำมาสร้างเป็น NFT จะเป็นไฟล์ดิจิทัล ดังนั้น จึงมีข้อควรระวังอีกประการคือ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าไฟล์ดิจิทัลในรูปของ NFT ที่เราถือครองอยู่จะไม่ถูกทำซ้ำ คัดลอก (duplicate) ไปทำเป็น NFT อื่น ๆ ด้วย
"ยกตัวอย่าง ผมมีบทความในรูปแบบของไฟล์ word อยู่ 1 ชิ้น ผมก็อาจจะนำเอาไฟล์บทความชิ้นเดียวนี้ ไปสร้างเป็น NFT หลาย ๆ ตัวได้โดยเพียงแค่ save หรือบันทึกไฟล์ในชื่อที่แตกต่างกัน เช่น file a, file b, file c แล้วนำไปทำเป็น NFT ถามว่าเนื้อหาหรือ content ของไฟล์เหล่านี้แตกต่างกันไหม และคุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเนื้อหาของ NFT ที่คุณถือครองอยู่ จะไม่เหมือนหรือไปซ้ำกับ NFT ตัวอื่น ๆ เรื่องนี้ตรวจสอบได้ยากมาก และหากเกิดกรณีพิพาทขึ้นในอนาคต ก็น่าจะหาข้อสรุปได้ยากเช่นเดียวกัน"
ความน่าเชื่อถือ? ในโลกเสมือน
ผศ. ดร.รุ่งเกียรติ กล่าวถึงพฤติกรรมของนักลงทุนที่ถือครอง NFT ในปัจจุบันว่า ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายกับคนหรือตัวแทนที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น จากผู้ขายที่มีตัวตนสามารถตรวจสอบได้ภายใต้กฎหมาย จากบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นต้น กล่าวได้ว่า การซื้อขาย NFT ในปัจจุบัน มักพึ่งพาเรื่องของความความเชื่อมั่นเป็นหลัก "แต่ก็นั่นแหละ คุณจะเชื่อได้อย่างไรว่าคนที่ดูน่าเชื่อถือเขาจะไม่โกง" ผศ. ดร.รุ่งเกียรติ ตั้งคำถาม
โลกนอกกฎหมายของ Crypto โอกาสและอันตราย
ผศ. ดร.รุ่งเกียรติ อธิบายเพิ่มเติมว่า โลกของ cryptocurrency นั้นไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยกฎหมายในปัจจุบัน หากผู้ลงทุนต้องการจะเข้าไปลงทุนจริง ๆ ควรต้องศึกษาให้มั่นใจก่อนว่ามันปลอดภัยจริง ๆ
"โลกของ cryptocurrency ไม่มีตำรวจ ไม่มีศาล ถ้าคุณไปถามคนที่โปรโลกคริปโตมาก ๆ เขาจะมองว่านี่แหละคือจุดแข็งของมัน เขาจะบอกว่ามันเจ๋งนะ ปลอดภัย computer coding ตรวจสอบได้ smart contract สมบูรณ์แบบ แต่อย่าลืมว่าหากเกิดความผิดพลาดอะไรขึ้นมา คุณจะเรียกร้องค่าเสียหายจากใคร แม้แต่ข้อมูลของ wallet ยังไม่มีการเปิดเผยด้วยซ้ำว่า wallet ไอดีนี้ ๆ ใครเป็นเจ้าของ ผมอาจจะเปิด wallet ไว้เป็นสิบ ๆ โดยที่คุณไม่รู้ แต่เข้าใจไปว่า 10 wallet เท่ากับ 10 คน"
"ผมไม่ได้พูดว่า NFT แย่หรือผิดนะ NFT ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ computer coding หรือ smart contract สิ่งเหล่านี้มันทำงานอย่างเที่ยงตรง แต่ปัญหาอยู่ที่การนำไปใช้ คือคนที่หาช่องหรือสบช่องที่จะต้มตุ๋นคนอื่น โดย หนึ่ง ปั่นราคา สร้าง demand ปลอมๆ และสอง เอาไฟล์ชิ้นเดียวกันแต่ไปทำ NFT หลายๆ โทเคน อย่างที่กล่าวไป"
อนาคตโลก Crypto ตรวจสอบได้ภายใต้กฎหมาย
เมื่อถามถึงอนาคต ผศ. ดร.รุ่งเกียรติ เห็นว่า NFT จะยังคงอยู่ แต่อาจเป็นในรูปแบบของ NFT บนดิน ที่มีการซื้อขายแบบถูกต้องตามกฎหมาย เป็น NFT ที่ออกโดยรัฐบาลหรือองค์กรที่น่าเชื่อถือ เช่น อาจมีการใช้โฉนดที่ดินในรูปแบบ NFT เพื่อการถือครองสิทธิ์ มีความปลอดภัย ตรวจสอบได้เพราะออกโดยรัฐ ไม่ต้องกลัวไฟไหม้ น้ำท่วม หรือโฉนดหาย เป็นอาทิ
"โลกของเราไม่ได้พัฒนามาโดยใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 ปี กว่าที่จะมีกฎหมาย มีการดูแลบังคับใช้ ต้องใช้เวลาเป็นร้อยเป็นพันปี กว่าที่เราจะมีสังคมที่มีลักษณะเป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้ ผมจึงมองว่าอนาคต cryptocurrency จะขึ้นมาอยู่บนดิน อยู่ในการตรวจสอบ กำกับดูแลโดยตัวบทกฎหมาย เพราะหาก NFT และ cryptocurrency ยังอยู่ใต้ดินต่อไป ก็จะเจอทางตัน" ผศ. ดร.รุ่งเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit