"ทีมวิจัย รร.นรต."ส่งมอบผลผลิตการวิจัย แผนงาน "เสริมพลังทางสังคมเพื่อรับมือใช้ประโยชน์เทคโนโลยีออนไลน์" เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ให้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน จังหวัดนครปฐม พันตำรวจเอกหญิง ดร. กัญญ์ฐิตา ศรีภา รองศาสตราจารย์ อาจารย์ (สบ 5) หัวหน้าแผนงานวิจัย เปิดเผยว่า คณะผู้วิจัยโรงเรียนนายร้อยตำรวจ นำโดย ศาสตราจารย์ พลตำรวจโท ดร. วีรพล กุลบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทน รองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และคณะผู้วิจัย จากคณะสังคมศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.ธีรวุฒิ นิลเพ็ชร์ ผู้วิจัย และ ร.ต.อ.หญิง พัชรา ต๊ะตา ร่วมกับผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พลรพี ทุมมาพันธ์ คณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ตรีทิพย์ บุญแย้ม วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ อาจารย์ดร. ฐิติมา เวชพงศ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
โดยคณะจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้ทำการส่งมอบผลผลิตจากการศึกษาวิจัยเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ ให้แก่ ผู้แทนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ ดร.วิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ร่วมกับ ดร.โชติมา หนูพริก ผู้อำนวยการกลุ่มผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความสามารถพิเศษ อาจารย์เอกสิทธิ์ ปิยะแสงทอง นักวิชาการศึกษาชำนาญการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยผลผลิตจากการศึกษาวิจัยที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจดำเนินการส่งมอบให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่
(1) รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง "การเสริมพลังทางสังคมเพื่อรับมือและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีออนไลน์" (2) มาตรการสำหรับสถานศึกษาในการกำกับดูแลความปลอดภัยจากการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน (3) มาตรการสำหรับสถานศึกษาเพื่อป้องกันการเสพติดเกมและภัยที่เกิดจากการเล่นเกมออนไลน์ของเด็กและเยาวชน และ (4) สื่อการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับสถานศึกษาในการป้องกันและลดปัญหาการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน
พันตำรวจเอกหญิง ดร. กัญญ์ฐิตา กล่าวว่า ทั้งนี้ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เล็งเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญในการร่วมกันดูแลเด็กและเยาวชนไทยให้ปลอดภัยจากการใช้สื่อออนไลน์และรับมือกับเทคโนโลยีออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม
โดยได้มีกำหนดแนวทางในการใช้ประโยชน์จากผลการศึกษาวิจัยของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในประเด็นที่สำคัญคือ การนำสื่อการเรียนรู้ออนไลน์เพื่อการป้องกันและลดปัญหาการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ไปขยายผลต่อในสถานศึกษาในสังกัด เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และทักษะที่สำคัญให้แก่ผู้เรียน
รวมถึงส่งต่อทั้ง 2 มาตรการที่ได้จากการศึกษาวิจัยให้แก่กลุ่มงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปศึกษาและขับเคลื่อนขยายผล นอกจากนั้นยังได้มีข้อตกลงร่วมกันที่จะขยายผลต่อยอดจากการศึกษาวิจัย ไปสู่การจัดอบรมเพื่อพัฒนาครูและนักเรียนของสถานศึกษาในสังกัด เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ในการรับมือและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีออนไลน์
ซึ่งต่อมาคณะผู้วิจัย โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้นำผลผลิตจากการศึกษาวิจัยอีกส่วนหนึ่ง ได้แก่ (1) รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง "การเสริมพลังทางสังคมเพื่อรับมือและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีออนไลน์" และ (2) มาตรการส่งเสริมเกมออนไลน์สร้างสรรค์และปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน ไปส่งมอบให้แก่ ผู้แทนจากสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้แก่ นายคมกริช ทรงแก้ว ผู้อำนวยการกลุ่มตรวจและส่งเสริมสถานประกอบกิจการ และ นางสาววจี ทางเจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและสนับสนุนภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรม มีภารกิจสำคัญเกี่ยวกับการเฝ้าระวังการนำเสนอเนื้อหาของสื่อที่ไม่เหมาะสม ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ และกระทบต่อศีลธรรมอันดี ซึ่งแม้หน้าที่ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ยังไม่ครอบคลุมไปถึงการควบคุมเนื้อหาเกมออนไลน์ แต่ในปัจจุบัน กระทรวงวัฒนธรรมอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าว
พันตำรวจเอกหญิง ดร. กัญญ์ฐิตา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ได้ผนวกเรื่องของการควบคุมเกมทั้งในลักษณะออนไลน์และออฟไลน์ คณะผู้วิจัยจึงเห็นว่ามาตรการที่พัฒนาขึ้นจากการศึกษาวิจัย จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยกำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินงานที่ให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเล่นเกมออนไลน์และส่งเสริมให้เกิดเกมออนไลน์สร้างสรรค์และปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ ผู้แทนจากสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และจะได้นำผลการวิจัยและมาตรการส่งเสริมเกมออนไลน์สร้างสรรค์และปลอดภัยให้กับเด็กและเยาวชน ไปใช้ประโยชน์และขับเคลื่อนขยายผลต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกันกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ใกล้จะแล้วเสร็จ
สำหรับแผนงานวิจัย "เสริมพลังทางสังคมเพื่อรับมือและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีออนไลน์" คณะสังคมศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แบ่งเป็น 2 โครงการย่อยภายใต้แผนงาน ได้แก่ โครงการ "การบูรณาการความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและกำกับดูแลความปลอดภัยจากการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน" และโครงการ "การพัฒนาเครือข่ายทางสังคมเพื่อสร้างมาตรการในการป้องกันและควบคุมผลกระทบทางลบจากเกมออนไลน์ในเด็กและเยาวชน" โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือเพื่อรับมือและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีออนไลน์ ผลผลิตจากการศึกษาวิจัยประกอบด้วย (1) มาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยจากการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน แบ่งเป็น 2 มาตรการที่เน้นการทำงานในลักษณะภาคีเครือข่าย ได้แก่ "มาตรการสำหรับสถานศึกษา" ประกอบด้วย 5 มาตรการย่อย สรุปเป็น พัฒนาครู-ส่งเสริมผู้เรียน-เข้าถึงครอบครัว-เฝ้าระวังเหตุ-ดูแลช่วยเหลือ และ "มาตรการทางกฎหมาย" ประกอบด้วย การปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัย การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ และการดำเนินการช่วยเหลือและคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัยจากการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ที่เข้าข่ายกระทำผิดทางกฎหมาย (2) สื่อการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับสถานศึกษาในการป้องกันและลดปัญหาการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ มีลักษณะเป็น e-learning กึ่งเกม ประกอบด้วย 3 ด่าน ด่านแรกเป็นด่านสร้างความตระหนักถึงความรู้สึกของผู้อื่น ด่านที่สองเป็นด่านให้ความรู้ด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์และด้านกฎมาย ส่วนด่านที่สามเป็นด่านให้ตัดสินใจแก้ไขปัญหา
(3) มาตรการส่งเสริมเกมออนไลน์สร้างสรรค์และปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน ประกอบด้วย 5 มาตรการย่อย ได้แก่ การควบคุมเนื้อหาเกมออนไลน์ให้เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน การกำหนดแนวทางในการแสดงข้อมูลสำคัญแก่ผู้ใช้บริการควบคู่กับการให้บริการเกมออนไลน์ การติดตามตรวจสอบเนื้อหาเกมออนไลน์ที่ไม่สร้างสรรค์และไม่ปลอดภัย การส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตเกมออนไลน์สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน และการเฝ้าระวังและปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยคุกคามที่แฝงมากับเกมออนไลน์
(4) มาตรการป้องกันการเสพติดเกมและภัยที่เกิดจากการเล่นเกมออนไลน์สำหรับเด็กและเยาวชน ประกอบด้วย 5 มาตรการย่อย สรุปเป็น ป้องกัน-ค้นหา-เฝ้าระวัง-เสริมคุณค่า-รักษาดูแล นอกจากนั้น ในกระบวนการศึกษาวิจัยของแผนงานวิจัย ยังทำให้เกิดการเสริมพลังทางสังคมเพื่อการรับมือและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีออนไลน์ โดยภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการวิจัย ตระหนักถึงประโยชน์ของมาตรการและสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ที่พัฒนาขึ้นจากการศึกษาวิจัย และเห็นควรนำไปขับเคลื่อนขยายผลต่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง
จากการดำเนินการศึกษาวิจัยจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ คณะผู้วิจัยโรงเรียนนายร้อยตำรวจคาดหวังว่า ผลงานวิจัยจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเกิดเครือข่ายทางสังคม ที่ร่วมกันผลักดันมาตรการและสื่อการเรียนรู้ที่จัดทำขึ้น ให้สามารถนำไปขยายผลที่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างและในเชิงบวกแก่เด็กและเยาวชน ช่วยให้เด็กและเยาวชนไทยสามารถรับมือและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนช่วยลดผลกระทบทางลบทั้งในเชิงปัญหาพฤติกรรมและปัญหาทางสังคม รวมถึงเกิดการขยายเครือข่ายความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น "พันตำรวจเอกหญิง ดร. กัญญ์ฐิตา กล่าว" .