ศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ มจธ. ชวน "คนทำงาน" สะสมทักษะ Logistics ผ่านหลักสูตรระยะสั้น คว้าประกาศนียบัตรดิจิทัล พัฒนาความก้าวหน้าในอาชีพ

06 Oct 2022

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ปั้นหลักสูตรระยะสั้นเพื่อคนทำงานโดยเฉพาะ มุ่งเน้นพัฒนาทักษะด้าน Digital Logistics และ Logistics Management ด้วยเวลาเรียนที่ยืดหยุ่น กับหลักสูตรที่ออกแบบจากโจทย์จริงของอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มทักษะคนทำงานให้ตรงเป้ากับอุตสาหกรรมยุคใหม่ และเป็นความรู้ที่จำเป็นแห่งอนาคต เมื่อสำเร็จหลักสูตร ผู้เรียนสามารถยื่นหลักฐานเพื่อขอรับประกาศนียบัตรดิจิทัล การันตีความรู้ความสามารถ เพิ่มโอกาสเติบโตในสายอาชีพ นอกจากนี้ในอนาคตยังมีโอกาสคว้าใบปริญญาบัตร ป.ตรี-ป.โท จาก มจธ. สะสมหน่วยกิตจากทักษะจริง หลักสูตรเพื่อคนทำงานรูปแบบใหม่ที่ มจธ. กำลังพัฒนาขึ้น เพื่อฉีกข้อจำกัดให้ทุกคนมีโอกาสคว้าความสำเร็จทางการศึกษาที่มีคุณภาพ

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ มจธ. ชวน "คนทำงาน" สะสมทักษะ Logistics ผ่านหลักสูตรระยะสั้น คว้าประกาศนียบัตรดิจิทัล พัฒนาความก้าวหน้าในอาชีพ

ผศ.ดร.กานดา บุญโสธรสถิตย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login) บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่าที่ผ่านมาศูนย์ Login พัฒนาหลักสูตรเพื่อ upskill/reskill คนทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชน วิเคราะห์ปัญหาจริงของธุรกิจ สร้างกระบวนการเพื่อแก้ปัญหา นำมาพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนระยะสั้น เพื่อให้คนทำงาน หรือ ผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาบุคลากร และต้องการเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาของกิจการ สามารถเลือกหลักสูตรที่ตอบโจทย์ ไม่ต้องใช้เวลาเรียนนาน แต่ได้ทักษะและเครื่องมือไปใช้งานได้จริง

"ปัจจุบัน ศูนย์ฯ มีหลักสูตรด้านโลจิสติกส์สำหรับคนทำงานและองค์กรที่หลากหลาย เช่น หลักสูตร Digital Logistics, Lean Logistics, Value Stream Mapping (VSM), Smart Warehouse Operations, Lean Automation โดยในแต่ละหลักสูตรอัดแน่นไปด้วยกรณีศึกษา (Use Cases) สำหรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ และรองรับ Digital Transformation โดยผู้เรียนสามารถเลือกเรียนหลักสูตรที่สนใจ หรือ เรียนเป็นระดับเพื่อพัฒนาความรู้อย่างเป็นระบบ จุดเด่นของหลักสูตรของศูนย์ Login คือ การตั้งต้นจากโจทย์จริงของผู้เรียน หยิบยกตัวอย่างและแนวทางการจัดการความท้าทายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จากประสบการณ์จริงของผู้สอน ช่วยให้ผู้เรียนเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้นำความรู้จากห้องเรียนไปใช้ในหน้างานได้จริง ซึ่งนี่คือหัวใจสำคัญในการ upskill/reskill คนทำงาน คือการนำความรู้ไปใช้จริงได้ทันที ทั้งยังเพิ่มพื้นฐานทางวิชาการ หลักในการคิดวิเคราะห์ที่ถูกต้องเป็นระบบให้คนทำงาน เพื่อใช้ต่อยอดในการทำงานอื่น ๆ ต่อได้ในอนาคต" ผศ.ดร.กานดา อธิบาย

นอกจากเลือกวิชาที่สนใจได้เอง เรียนระยะสั้น แต่ได้ความรู้แบบเข้มข้นแล้ว หลักสูตรด้าน Logistics ของศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ ยังดีไซน์รูปแบบการเรียนให้ยืดหยุ่นด้านเวลา ทำให้คนทำงานสามารถเรียนได้โดยไม่กระทบเวลางาน หรือองค์กรยังสามารถนำหลักสูตรของศูนย์ฯ ไปเป็นโครงการพัฒนาทักษะของบุคลากรในแต่ละแผนก เพื่อนำความรู้มาเชื่อมโยงกัน แก้ปัญหาและพัฒนากระบวนการทำงานได้ทั้งระบบ

ผศ.ดร.กานดา เสริมอีกว่า ใบประกาศดิจิทัลไม่เพียงการันตีความรู้ความสามารถของผู้เรียน ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากต่อการเติบโตในสายอาชีพ หรือขยับขยายไปสู่สายงานใหม่ ๆ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กำลังพัฒนาหลักสูตร Micro-Credentials คือการให้คนทำงานสามารถส่งหลักฐานจากการทำงานเพื่อเป็นการการันตีความสามารถ และจะได้รับใบประกาศดิจิทัล มาใช้เป็นหลักฐานยืนยันความรู้ เทียบโอนหน่วยกิต และสะสมหน่วยกิตจากใบประกาศดิจิทัล จนสามารถสำเร็จการศึกษาคว้าปริญญาบัตร ทั้ง ปริญญาตรี และปริญญาโทได้

"หลักการเบื้องต้นของ Micro-Credentials คือ ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมานั่งเรียนในห้องเรียนแบบการเรียนปกติ ไม่ต้องสอบกลางภาค ไม่ต้องสอบปลายภาค แต่สามารถใช้ทักษะ และความสามารถจากการทำงานจริงมายื่นเป็นหลักฐานตามเกณฑ์การประเมินที่กำหนด จนได้ใบประกาศดิจิทัล เป็นหลักฐานการันตีความรู้ และสามารถนำใบประกาศดิจิทัลของแต่ละหลักสูตร มายื่นขอเทียบโอนหน่วยกิต สะสมหน่วยกิตได้เรื่อย ๆ ไม่จำกัดเรื่องของระยะเวลา ผู้เรียนสามารถสะสมทักษะที่สนใจไปได้เรื่อย ๆ นำความรู้ไปใช้งานจริง พร้อมกับมีโอกาสคว้าปริญญาบัตรจากทักษะที่เพิ่มพูนขึ้นของตัวเอง" หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ กล่าว

องค์กร หรือผู้ที่สนใจหลักสูตร Digital Logistics และ Logistics Management รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านโลจิสติกส์เฉพาะด้าน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Micro-Credentials สามารถติดต่อศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ ได้ที่เฟซบุ๊ก logisticsinnovation หรือเว็บไซต์ www.login2login.com

HTML::image(