LINE ประเทศไทย เปิดตัว LINE ALERT บัญชีแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรง นำร่องความร่วมมือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ และกรมอุตุนิยมวิทยาฯ ตอกย้ำการเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อชีวิตดิจิทัล

06 Oct 2022

LINE ประเทศไทย ผู้นำแพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานเพื่อชีวิตดิจิทัล ที่มีผู้ใช้งานในเมืองไทยมากกว่า 53 ล้านคน เปิดตัว LINE ALERT บัญชีทางการแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรง เพื่อให้คนไทยได้เกาะติดสถานการณ์ภัยธรรมชาติทั่วประเทศอย่างทั่วถึงและทันเวลา ชูจุดแกร่งแพลตฟอร์มตัวกลางที่พร้อมด้วยฟีเจอร์อำนวยความสะดวกและเข้าถึงคนไทยทั่วทุกภูมิภาค นำร่องจับมือ 2 หน่วยงาน ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ และกรมอุตุนิยมวิทยาฯ ทำหน้าที่อัปเดตข้อมูลและแจ้งเตือน ตอกย้ำการเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อชีวิตดิจิทัลท่ามกลางฤดูพายุที่กำลังจู่โจมหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

LINE ประเทศไทย เปิดตัว LINE ALERT บัญชีแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรง นำร่องความร่วมมือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ และกรมอุตุนิยมวิทยาฯ ตอกย้ำการเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อชีวิตดิจิทัล

ดร. พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE (ประเทศไทย) กล่าวว่า "การพัฒนาโปรเจ็ค LINE ALERT บัญชีแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรง เกิดขึ้นด้วยบทบาทของการเป็น Life Infrastructure โครงสร้างพื้นฐานชีวิตยุคดิจิทัลซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้ในประเทศไทยกว่า 53 ล้านคน โดยมุ่งมั่นที่อยากจะเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างผู้ใช้ทั่วประเทศไทยในสถานการณ์ภัยพิบัติร้ายแรงที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี ให้สามารถเข้าถึงบริการข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ อาทิ พายุ ไฟไหม้ น้ำท่วม และแผ่นดินไหวได้อย่างทั่วถึงและทันเวลา โดยนำร่องจับมือกับ 2 หน่วยงานได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นการผสมผสานความแข็งแกร่งระหว่างแพลตฟอร์ม LINE และหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการข้อมูลภัยธรรมชาติ เป็นอีกหมุดหมายสำคัญของการก้าวสู่โลกดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐ (Digitalization) เพื่อยกระดับบริการให้ตอบโจทย์ประชากรดิจิทัลในเมืองไทย โดยมี LINE เป็นเทคโนโลยีสำคัญในครั้งนี้"

สำหรับ LINE ALERT เป็นบัญชีแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรง โดยมี LINE ประเทศไทยเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มตัวกลางสำหรับสื่อสาร โดยความร่วมมือของ 2 หน่วยงานสำคัญ ซึ่งจะเป็นผู้อัปเดตและนำส่งข้อมูลเพื่อแจ้งเตือนไปยังประชาชนทั่วประเทศ

  • กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานที่มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์มูลเหตุหรือข้อมูลปัจจัยที่อาจทำให้เกิดเป็นภัยพิบัติ เช่น การเกิดแผ่นดินไหว ข้อมูลดาวเทียมหรือเรดาร์ตรวจวัดค่าปริมาณฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา เป็นต้น โดยทำการวิเคราะห์ ประเมินกับข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยนั้น เพื่อแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าไปยังหน่วยงาน และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงโซเชียลมีเดีย 
  • กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจ เฝ้าระวัง ติดตาม รายงานสภาวะอากาศและปรากฏการณ์ธรรมชาติ พยากรณ์อากาศและเตือนภัยที่เกิดจากธรรมชาติ ให้บริการด้านอุตุนิยมวิทยาและแผ่นดินไหวแก่บุคคลทั่วไป โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มุ่งมั่นนำเทคโนโลยีมาใช้ในการแจ้งเตือนภัยพิบัติของประเทศ สอดรับกับพฤติกรรมการเปิดรับข้อมูลข่าวสารในยุคปัจจุบันที่นิยมสื่อสารผ่านทางสื่อโซเชียลและแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อเป็นช่องทางการแจ้งเตือนภัยที่เข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว      

สำหรับ LINE ALERT คือ บัญชีทางการที่จะทำหน้าที่แจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรง ซึ่งประกอบด้วย 6 เมนูหลัก ได้แก่ อัปเดตภัยพิบัติ 5 ระดับ (ปกติ, เฝ้าระวัง, เสี่ยงอันตราย, เสี่ยงอันตรายสูง และ อันตรายสูงสุด), เช็กพื้นที่เสี่ยง, รวมเบอร์ติดต่อฉุกเฉิน, โรงพยาบาลใกล้เคียง และวิธีการป้องกันตัวเองในสถานการณ์ต่าง ๆ ครอบคลุมความต้องการพื้นฐานด้านข้อมูลสำหรับประชาชนเมื่อประสบภัยพิบัติทั้งพายุ ไฟไหม้ น้ำท่วม และแผ่นดินไหว ซึ่งในอนาคตเตรียมเปิดให้บริการฟีเจอร์บริจาคเร็ว ๆ นี้ โดยสามารถเพื่อเพื่อนได้แล้วตั้งแต่วันนี้ เพียงค้นหา @linealert หรือ https://lin.ee/l40xtWN

นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เผยข้อมูลสถิติสาธารณภัยปี พ.ศ. 2565 ในรอบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 เมษายน 2565 พบด้านพื้นที่ประสบสาธารณภัยในประเทศไทย มีพื้นที่ประสบสาธารณภัย รวม 13,370 หมู่บ้าน/ชุมชน โดยมีพื้นที่ประสบวาตภัยมากที่สุด จำนวน 9,704 หมู่บ้าน/ชุมชน ใน 75 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร รองลงมา ได้แก่ อุทกภัย  มีพื้นที่ประสบภัย จำนวน 2,580 หมู่บ้าน/ชุมชน ใน 26 จังหวัด โดยด้านผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จำนวน 184 ราย แบ่งเป็น ผู้เสียชีวิต 59 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 125 ราย  โดยอัคคีภัยเป็นสาธารณภัยที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด รวม 114 ราย จึงคาดหวังว่าการแจ้งเตือนข้อมูลด้านสาธารณภัยที่เป็นประโยชน์ จะทำให้ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคได้เข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นเพื่อให้สามารถวางแผนรับมือได้อย่างทันท่วงที

กล่าวได้ว่า โครงการ LINE ALERT เป็นการพากลับไปสู่จุดเริ่มต้นซึ่งเป็นหัวใจของแอป LINE นี้อีกครั้ง จากการที่ LINE ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ผู้ประสบเหตุสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 11 ปีก่อนได้ติดต่อสื่อสารด้วยภารกิจ Closing The Distance ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา