สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงานเสวนา "ก้าวต่อไปของตลาดทุนไทยในทศวรรษหน้า" ในโอกาสครบรอบก่อตั้ง 30 ปี โดยอดีตเลขาธิการ 6 ท่านร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น มุมมองและข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยในอนาคต เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565
สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "การพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อก้าวต่อไปในทศวรรษหน้า" โดย ก.ล.ต. พร้อมนำมุมมองและข้อเสนอแนะที่ได้รับไปใช้ในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานเพื่อพัฒนาตลาดทุนไทยให้มั่นคงและยั่งยืน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า "ในปัจจุบันนอกจากตลาดเงินและตลาดทุนแล้ว ยังมีตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนเพิ่มจากบริบทเดิม เป็นสิ่งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ก.ล.ต. หารือร่วมกันมาโดยตลอดถึงขอบเขตการกำกับดูแลภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ เพื่อปิดช่องว่างที่มีอยู่ ซึ่งต้องมีปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในบางประเด็น โดยกฎเกณฑ์ที่มีอยู่นั้น เป็นไปเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจของภาคเอกชน แต่ขณะเดียวกันจะต้องไม่เอาเปรียบประชาชน จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลในการรักษาสมดุลให้ได้ นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระดมทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ผ่านผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ในตลาดทุน รวมทั้งการดำเนินนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG) ของภาครัฐ"
นายเอกกมล คีรีวัฒน์ เลขาธิการ ก.ล.ต. (พ.ศ. 2535 - 2538) กล่าวว่า "ดีใจที่อยู่ถึงครบรอบ ก.ล.ต. 30 ปี ได้เห็น ก.ล.ต. ผ่านร้อนผ่านหนาวด้วยดีและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศในด้านตลาดทุนอย่างยั่งยืน และมองการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลนับเป็นความท้าทายของสำนักงาน ก.ล.ต. ระยะต่อไป เนื่องจากกฎเกณฑ์ ในการกำกับดูแลด้านนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เหมือนกฎเกณฑ์เดิม เพราะเราควบคุมต้นน้ำไม่ได้ จึงต้องมีการกำกับดูแลผ่านผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง เช่น ศูนย์ซื้อขาย ขณะที่การกำกับดูแลในแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน บางประเทศก็ไม่ยอมรับ บางประเทศก็จัดสินทรัพย์ดิจิทัลให้อยู่ในตลาดสินทรัพย์ทางเลือก บางประเทศธนาคารกลางต้องดูแล ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญ แต่ผมเชื่อว่า หากวางกฎเกณฑ์กำกับดูแลที่ดีก็จะสามารถก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน"
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา เลขาธิการ ก.ล.ต. (พ.ศ. 2538 - 2542) กล่าวว่า "ในอนาคตดิจิทัลเทคโนโลยีจะมีบทบาทต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยมากขึ้น ก.ล.ต. ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ประสานงานให้มากขึ้นให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในพัฒนา โดยสิ่งที่อยากจะเน้นให้ ก.ล.ต. ดำเนินการต่อไป คือ การเพิ่มคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนเข้าเป็นแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนยึดการทำธุรกิจที่คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล สังคมและสิ่งแวดล้อม (ESG) เพิ่มบริษัทจดทะเบียนในอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจใหม่ ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมด้านผู้ลงทุน ทั้งผู้ลงทุนบุคคลและผู้ลงทุนสถาบัน"
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. (พ.ศ. 2542 - 2546) กล่าวว่า "ในทศวรรษหน้า ตลาดทุนไทยจะมีบทบาทมากขึ้นในระบบการเงินและการจัดสรรทรัพยากรทุนเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนและทั่วถึงทุกภาคส่วน…แรงผลักดันเรื่องความยั่งยืนจากหลายภาคส่วนในตลาดทุน เช่น บริษัทจดทะเบียน ตัวกลางทางการเงิน นักลงทุนสถาบัน คนรุ่นใหม่ ภาคนโยบาย รัฐบาล และความร่วมมือระหว่างประเทศ จะเป็น market force ที่ขับเคลื่อนให้ตลาดทุนพัฒนาอย่างยั่งยืน"
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. (พ.ศ. 2546 - 2554) กล่าวว่า "ในปัจจุบันโลกมีความท้าทายจากเศรษฐกิจดิจิทัล 3 ด้าน ประกอบด้วยความพยายามของประเทศฝั่งตะวันออกที่จะเป็นอิสระจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จีนจะเข้ามามีบทบาทในการค้าโลก ซึ่งจะทำให้ไทยอาจต้องพัฒนาระบบเพื่อรองรับดิจิทัลหยวน และการพัฒนาดิจิทัลเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแลที่จะเข้ามามีบทบาทในการวางแผนและบริหารจัดการ รวมทั้งวางแผนรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต และสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลที่จะทำให้เกิดสมดุลระหว่างการพัฒนาเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเก็งกำไร"
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. (พ.ศ. 2554 - 2558) กล่าวว่า "ตลอดเวลาที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้มีส่วนผลักดันในการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ภารกิจที่ ก.ล.ต. ต้องทำต่อไป คือ ต้องเป็นองค์กรที่พึ่งพาได้ ฝากอนาคตได้ในทุกภาคส่วน เป็นหุ้นส่วน (visionary and strategic partners) ในการทำงานด้วยกันร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายชัดเจนในการสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน รวมถึงต้องสนับสนุนให้ผู้ลงทุนมีความรู้ทางด้านการเงินและการลงทุนเพื่อให้สามารถคุ้มครองตัวเองได้ รวมถึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต"
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. (พ.ศ. 2558 - 2562) กล่าวว่า "การพัฒนาตลาดทุนไทยในช่วงทศวรรษหน้าจะมีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพเศรษฐกิจและสังคม ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนจึงต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ว่าจะ ก.ล.ต. เอง ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลและส่งผ่านนโยบายที่สำคัญ ตัวกลางซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ให้บริการและคำแนะนำแก่ลูกค้า แต่ที่สำคัญที่สุด ก็คงเป็นการเตรียมตัวของนักลงทุนซึ่งจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องสินค้าที่จะนำเงินไปลงทุน รวมทั้งความเสี่ยงที่จะตามมาด้วย"
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า "ปีนี้เป็นปีพิเศษอย่างยิ่งที่ ก.ล.ต. ได้ดำเนินการมาครบ 30 ปี โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. ทั้ง 6 ท่าน ได้นำพา ก.ล.ต. ก้าวผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงความท้าทายจากภายในประเทศและต่างประเทศมาได้ และในวันนี้ทุกท่านได้ร่วมให้มุมมองและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของ ก.ล.ต. และการพัฒนาตลาดทุนไทย ภายใต้บริบท VUCA World Digital Disruption และโลกการเงินในอนาคต ซึ่ง ก.ล.ต. จะนำมุมมองและข้อเสนอแนะ ประกอบกับแนวนโยบายที่ได้รับจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมทั้งความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในตลาดทุน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ไปเป็นพลังสำคัญในการร่วมพัฒนาตลาดทุนไทยให้มีความยั่งยืน พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป เพราะตลาดทุนไทยเป็นของพวกเราทุกคน"
ทั้งนี้ งานเสวนา "ก้าวต่อไปของตลาดทุนไทยในทศวรรษหน้า" จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ และถ่ายทอดสดผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก "สำนักงาน กลต." โดยผู้สนใจสามารถรับชมงานเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/sec.or.th/videos/1506108936516678
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit