กทม.เตรียมพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว ตามที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) คาดการณ์จะมีฝุ่น PM2.5 สะสมเพิ่มขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 15 - 16 ม.ค.66 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมตรวจสอบสุขลักษณะสถานประกอบกิจการเชิงรุก รวมทั้งตรวจสอบระบบบำบัดมลพิษอากาศให้กำจัดมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่เดือน ก.ย.65 เป็นต้นมา โดยเน้นกิจการที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองสูง เช่น กิจการผสมซีเมนต์ (แพลนท์ปูน) กิจการหลอมโลหะ สำหรับในรายที่พบข้อบกพร่องได้แนะนำให้ปรับปรุงแก้ไข ตรวจติดตาม และกวดขันให้ปฏิบัติตามมาตรการในช่วงที่มีฝุ่นละอองสูงอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันได้ติดตามและเฝ้าระวังข้อมูลสถานการณ์ค่าปริมาณฝุ่น PM2.5 จากสำนักสิ่งแวดล้อม ประกอบกับข้อมูลสถิติการเจ็บป่วยที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 จากสำนักงานพัฒนาระบบสาธารณสุข สนอ.และสำนักการแพทย์ในแต่ละพื้นที่เขต ตลอดจนรวบรวมและประสานสำนักงานเขตที่มีแนวโน้มค่าปริมาณฝุ่น PM2.5 สูงขึ้น และเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดต่อเนื่องติดต่อกันเกิน 3 วัน เพื่อให้สำนักงานเขตพิจารณาใช้มาตรการทางกฎหมายและข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ สนอ.ได้สนับสนุนหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM2.5 ให้สำนักงานเขต เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง (กลุ่ม 608) และประชาชนกลุ่มเปราะบาง และให้สำนักงานเขตจัดทำบัญชีรับจ่ายหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM2.5 รายงานผลการดำเนินงานให้ สนอ.ทราบเดือนละ 2 ครั้ง เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค.66 เป็นต้นไป พร้อมทั้งสนับสนุนเวชภัณฑ์อื่น ๆ ให้สำนักงานเขต ได้แก่ แอลกอฮอล์เจล แอลกอฮอล์สเปรย์ โลชั่นกันยุงตะไคร้หอม โลชั่นกันยุงตะไคร้หอมชนิดหัวสเปรย์
นอกจากนั้น ยังได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์แนะนำการบริหารจัดการ เพื่อลดมลพิษจากการจุดธูป เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่ออันตรายจากควันธูป ได้แก่ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และบุคคลที่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหัวใจ รวมทั้งแจ้งสำนักงานเขตประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรู้และรณรงค์เน้นย้ำข้อควรปฏิบัติและวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 เนื่องจากช่วงเดือน ธ.ค. - ก.พ.เป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่และเทศกาลตรุษจีน ประชาชนชาวไทยจำนวนมากจะประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ โดยในพิธีกรรมต่าง ๆ จะเต็มไปด้วยธูปเทียน รวมถึงการเผากระดาษในช่วงเทศกาลตรุษจีน จะทำให้เกิดควันและมลพิษในอากาศ
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ.ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากค่าฝุ่น PM2.5 ที่สูงจนมีผลกระทบต่อสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยเหลือและให้ความรู้ประชาชน พร้อมจัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน รวมถึงรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละออง ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จะมีมาตรการ ดังนี้ (1) ฉีดพ่นละอองน้ำจากสปริงเกอร์บนชั้นดาดฟ้าของตึก ที่ได้ติดตั้งไว้แล้ว เพื่อลดภาวะฝุ่นละอองในบริเวณพื้นที่โรงพยาบาล (รพ.) (2) เปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM2.5 เกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (3) รพ.ในสังกัด กทม.เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ ได้แก่ รพ.ตากสิน โทร.02 437 0123 ต่อ 1426, 1430 (วันจันทร์ -วันศุกร์ ยกเว้นวันพุธและวันหยุดราชการ เวลา 09.00 - 12.00 น.) รพ.กลาง โทร.02 220 8000 ต่อ 10811 (วันอังคารและวันศุกร์ เวลา 08.00 - 12.00 น.) รพ.ราชพิพัฒน์ โทร.02 444 0163 ต่อ 8946 (วันอังคาร เวลา 08.00 - 16.00 น.) รพ.สิรินธร โทร.02 328 6901 (วันอังคาร เวลา 13.00 - 16.00 น.) และ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร.02 289 7225 (วันพุธ เวลา 13.00 - 15.00 น.) เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชน ให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่นละออง
นอกจากนั้น ยังได้จัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น (Safe Zone) ภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของ รพ.ในสังกัด กทม.พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง (สีแดง) หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และงดทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรพบแพทย์ทันที
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit