สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO ให้การส่งเสริมด้านการเพาะเลี้ยง "ชันโรง" ด้วยการนำองค์ความรู้สู่ชุมชนดอยลาง จังหวัดเชียงใหม่ นำไปสู่การพัฒนาและวิจัยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าอย่าง "น้ำผึ้งชันโรง" ที่ช่วยสร้างอาชีพและสร้างเศรษฐกิจจากทรัพยากรชีวภาพที่หลากหลายควบคู่กับการอนุรักษ์และสร้างความยั่งยืนแก่ชุมชน
นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กล่าวว่า "สำนักงานฯ ได้เข้ามาส่งเสริมอบรมให้ความรู้การเพาะเลี้ยงชันโรง ที่อำเภอดอยลาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรังของชันโรงมีลักษณะคล้ายรังผึ้ง และผู้คนในชุมชนก็ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไร แต่ชันโรงกลับกลายเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่สร้างเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนดอยลางเป็นอย่างมาก ด้วยคุณภาพของน้ำผึ้งชันโรงที่มีประโยชน์ มีสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป ซึ่งมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รับรอง เบโด้ (BEDO) ก็ได้เข้ามาให้การสนับสนุนชุมชนด้านการเพาะเลี้ยงชันโรงอย่างต่อเนื่อง ขยายการเพาะเลี้ยงในชุมชนให้มากขึ้น เพื่อให้ชุมชนมีรายได้ที่ได้จากทรัพยากรที่มีอยู่ พัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ สร้างรายได้ให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน"
"ชันโรง" มีหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งในประเทศไทยมี 34 สายพันธุ์ โดยที่ดอยลางมีประมาณ 12 สายพันธุ์ ปัจจุบันผู้คนในชุมชนดอยลางหันมาสนใจเพาะเลี้ยงชันโรงกันมากขึ้น ถือเป็นการสร้างรายได้เสริม สามารถทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งน้ำผึ้งชันโรงถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีประโยชน์มาก ทำให้ราคาน้ำผึ้งชันโรงมีราคาสูงกว่าน้ำผึ้งปกติถึง 10 เท่า เบโด้ (BEDO) ได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมสร้างเศรษฐกิจภายในชุมชน ควบคู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit