คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้นำวิศวกรรมศาสตร์ที่ได้รับการรับรองหลักสูตรมาตรฐานโลกจาก ABET สหรัฐอเมริกา โดยภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า กลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบราง และสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ อัลสตอม ประเทศไทย ผู้นำเทคโนโลยีระบบรางของโลก จัดงาน Mahidol Engineering Design Challenge X Alstom วัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาไทย 5 ภาควิชาและทุกชั้นปี ได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพในกระบวนการออกแบบทางวิศวกรรม (Engineering Design) เพื่อการสร้างนวัตกรรมและแก้ปัญหา ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol Engineering) กล่าวว่า งาน Mahidol Engineering Design Challenge X Alstom เป็นกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพนักศึกษาในกระบวนการออกแบบทางวิศวกรรม หรือ Engineering Design ซึ่งเป็นการวางแผนและขั้นตอนดำเนินการเพื่อนำมาแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ความต้องการ ซึ่งประกอบด้วย 1.ระบุปัญหา 2.รวบรวมข้อมูลและแนวคิดที่เกี่ยวกับปัญหา 3.ออกแบบวิเคราะห์แก้ปัญหา 4.วางแผนและดำเนินการแก้ปัญหา 5.ทดสอบ ประเมินผล และปรับปรุงแก้ไขวิธีการแก้ปัญหา 6.นำเสนอวิธีการแก้ปัญหา ผลการแก้ปัญหา หรือชิ้นงาน ทั้งนี้นับว่าสอดคล้องกับแนวทางของคณะวิศวะมหิดลในด้านส่งเสริมคุณภาพมาตรฐานการศึกษา ABET แห่งสหรัฐอเมริกา โดยงานกิจกรรมนี้เป็นลักษณะเชิงปฏิบัติการ 3 วัน เรียนรู้จากการลงมือทำงานร่วมกัน มีนักศึกษาชั้นปี 1 ถึง 4 จาก 5 ภาควิชาเข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมโยธา และวิศวกรรมชีวการแพทย์
โดยมี บริษัท อัลสตอม ประเทศไทย (Alstom Thailand) ซึ่งเป็นผู้นำในเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมระบบรางของโลกได้เตรียมโจทย์ที่มาจากการทำงานของภาคอุตสาหกรรมจริง พร้อมส่งทีมวิศวกรผู้มีประสบการณ์มาให้ความรู้ คำแนะนำ และให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาวิศวะมหิดลตลอดกิจกรรม โดยมีอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากรหลัก ให้ความรู้ในด้านการออกแบบทางวิศวกรรมในมิติต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม ทักษะผู้ประกอบการ การก้าวเป็นสตาร์ทอัพในอนาคต และร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศชาติในอนาคต พร้อมด้วยทีมศิษย์เก่าวิศวะมหิดลที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาเป็นผู้ให้คำแนะนำด้านการนำเสนอผลงานและเป็นคณะกรรมการพิจารณาผลงาน
ดร.สมนิดา ภัทรนันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เวิร์คช็อป 3 วัน ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ และได้ประสบการณ์ตรงเป็นประโยชน์ต่อการทำงานและสร้างนวัตกรรม โดยวันที่ 1 นักศึกษารับฟังโจทย์จาก Alstom นำโดย Mr. Lucien Grant Peters เพื่อจัดกลุ่มทำงานตามหัวข้อโจทย์ที่สนใจ และได้รับคำแนะนำด้านการออกแบบทางวิศวกรรม (Engineering Design) จากทีมวิทยากรซึ่งเป็นศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาทิเช่น ดร.พัฒนาช พัฒนะศรี ผศ.ดร.พรภพ นัยเนตร ผศ.ดร.โชคชัย จูฑะโกสิทธิ์กานนท์ ผศ. ดร.คัคนานต์ สรุงบุญมี ดร.จตุรวิทย์ พันธกิจเจริญกุล ผศ.ดร.ธนัสนี เพียรตระกูล และ อาจารย์ธนทิพย์ อ้วนอ่อน เป็นวิทยากรหลัก
สำหรับวันที่ 2 นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการเข้าถึงความต้องการของลูกค้า Emphasizing Customers โดยได้รับคำแนะนำจากทีมศิษย์เก่าวิศวะมหิดล และได้เข้าสัมภาษณ์ทีมวิศวกรจาก Alstom นำโดย คุณวลัยพร ลีละวรรณี คุณจิรพรรณ พงษ์ไฝ คุณพลวัต จูเภา และ คุณวิภาดา ลิมป์สุรพงษ์ ในรูปแบบการประชุมอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ นักศึกษายังได้เรียนรู้ในเรื่อง สานพลังความยั่งยืน (Integrated Sustainability) จาก รศ.ดร.ตระการ ประภัสพงษา และ Mr. Antonio Munoz รวมทั้งได้รับองค์ความรู้เกี่ยวกับ เทคนิคการเล่าเรื่องราวให้น่าสนใจ หรือ Storytelling จาก Mr. Graham K. Rogers อีกด้วย
ส่วนวันสุดท้าย นักศึกษาวิศวะมหิดลได้นำเสนอผลงานในรูปแบบ Pitching ต่อคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย คุณวลัยพร ลีละวรรณี คุณพลวัต จูเภา จาก Alstom และ ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ให้ข้อมูลและมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพทางด้านการออกแบบทางวิศวกรรมของนักศึกษาคนรุ่นใหม่อย่างมาก
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit