รมว.อว.ผลักดันหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ แจ้งเกิดวิทยสถาน "ธัชภูมิ" เพื่อการพัฒนาพื้นที่ รับผิดชอบบูรณาการองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมระดับพื้นที่ พัฒนาเป็นชุดความรู้เพื่อการพัฒนา ตลอดจนสร้างภูมิคุ้มกันประเทศบนฐานภูมิปัญญาภายใต้บริบทไทย และเชื่อมโยงกับสถาบันความรู้นานาชาติ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะผู้ริเริ่มผลักดันหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ให้จัดตั้ง วิทยสถาน "ธัชภูมิ" เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ได้กล่าวแสดงปาฐกถาภายใต้หัวข้อ "พื้นที่คือคำตอบและโอกาสใหม่" ในโอกาสเปิดตัววิทยสถานธัชภูมิเพื่อการพัฒนาพื้นที่ เมื่อวันที่ 20 มกราคม โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า องค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมในระดับพื้นที่ ซึ่ง บพท. ทำร่วมกับกลไกภาคีความร่วมมือ ตลอดจนสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก และควรต้องนำเอาองค์ความรู้เหล่านั้นมาสังเคราะห์ จัดระเบียบ เพื่อพัฒนาเป็นชุดความรู้ใหม่ สำหรับนำไปสร้างโอกาสใหม่ และขยายผลต่อยอดให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่ง วิทยสถานธัชภูมิเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ถูกสถาปนาขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่นี้ ในฐานะสถาบันความรู้คู่แผ่นดิน
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า วิทยสถาน "ธัชภูมิ" เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ บพท. มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบในการประมวลและสังเคราะห์องค์ความรู้จากงานวิจัย นวัตกรรม และภูมิปัญญาจากพื้นที่ ครอบคลุมทุกมิติของงานพัฒนาพื้นที่ ได้แก่ ด้านขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม ด้านเศรษฐกิจฐานราก จากฐานทุนทรัพยากรพื้นถิ่น ด้านการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรม ด้านการพัฒนาเมืองเพื่อกระจายศูนย์กลางความเจริญ และด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นและชุมชน ซึ่ง บพท. ได้ทำร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนกลไกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ดำเนินกระบวนการพัฒนาให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานด้านความรู้ระดับพื้นที่ (Knowledge Infrastructure) รวมทั้งทำให้เกิดชุดความรู้ที่สามารถส่งออกสู่ระดับสากล และผลักดันเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ โดยมี ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานในภาพรวม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถาน "ธัชภูมิ" เพื่อการพัฒนาพื้นที่
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย กล่าวถึง การดำเนินงานของวิทยสถานธัชภูมิ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ว่าเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ และสอดคล้องกับกรอบการทำงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบัน คือฉบับที่ 13 ซึ่งผลลัพธ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการทำหน้าที่ของวิทยสถานธัชภูมิ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ผลผลิตสำคัญของธัชภูมิคือ
"ในเบื้องต้นบทบาทพันธกิจของวิทยสถานธัชภูมิ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ จะครอบคลุม 5 มิติที่มีผลกระทบสูงต่อการพัฒนาประเทศ ผ่านสถาบันความรู้ 5 สถาบัน ได้แก่ สถาบันความรู้เพื่อจัดการทุนทางวัฒนธรรม สถาบันความรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สถาบันความรู้เพื่อสร้างโอกาสทางสังคม สถาบันความรู้เพื่อการพัฒนาเมือง และสถาบันความรู้เพื่อเสริมพลังท้องถิ่น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit