รมว.สุชาติ สั่งการกรมพัฒน์ เร่งอัพสกิล Hi Technology ป้อนอุตสาหกรรมเขต EEC ปี 2566 ตั้งเป้า 2,800 คน

20 Jan 2023

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ยกระดับทักษะแรงงานด้านเทคโนโลยีชั้นสูง เร่งป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

รมว.สุชาติ สั่งการกรมพัฒน์ เร่งอัพสกิล Hi Technology ป้อนอุตสาหกรรมเขต EEC ปี 2566 ตั้งเป้า 2,800 คน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้ขับเคลื่อนภารกิจเพิ่มศักยภาพยกระดับทักษะให้แก่แรงงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา EEC (Eastern Economic Corridor) เพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เป็นการเตรียมความพร้อมด้านแรงงาน รับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในศตวรรษที่ 21 ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายนั้นต้องเริ่มจากการฝึกทักษะสามารถใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษาในรูปแบบประชารัฐ เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม เช่น ร่วมมือกับสมาคมต่างๆ ด้านแรงงานในการจัดทำหลักสูตรและการฝึก ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินการพัฒนาทักษะดังกล่าวเพื่อยกระดับศักยภาพให้แก่แรงงานภายใต้โครงการเพิ่มทักษะกำลังแรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งในปี 2565 ดำเนินการแล้วกว่า 7,240 คน ทั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้านการพัฒนายกระดับแรงงานสมรรถนะสูงในพื้นที่ EEC และ Up skill และ Re skill แรงงานในสถานประกอบการในพื้นที่ EEC เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูง ช่วยขับเคลื่อนลดปัญหาและทดแทนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน

นางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ปี 2566 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานฝีมือขั้นสูงในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป้าหมาย 2,800 คน ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่ตั้งอยู่เขตพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 17 ระยอง สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 29 ฉะเชิงเทรา และสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) ปัจจุบันดำเนินการฝึกอบรมไปแล้วกว่า 400 คน ใน 20 หลักสูตร ซึ่งฝึกอบรมให้แก่แรงงานในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการผลิต อาทิ การเขียนโปรแกรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ 24 ชั่วโมง เทคโนโลยีการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ การควบคุมหุ่นยนต์ลำเลียง AGV การใช้โปรแกรม Solid works for CAD (Modeling Assembly Drafting) งานควบคุมเครื่องจักรด้วยอุปกรณ์ PLC ผ่านหน้าจอ HMI ด้วยการใช้งานฟังก์ชั่นขั้นสูง (Advance GOT) การออกแบบเฟิร์มแวร์สำหรับระบบสมองกลฝังตัวขั้นสูงในงานควบคุมและเชื่อมต่ออินเตอร์อินเทอร์เน็ตในงานอุตสาหกรรม Arduino platform ขณะนี้ดำเนินการฝึกแล้ว 349 คน

ทั้งนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC พัฒนาทักษะลูกจ้างของตนเอง เพื่อให้มีทักษะสอดคล้องกับการจ้างงาน รองรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป และนำค่าใช้จ่ายจากการฝึกอบรมพัฒนาทักษะลูกจ้างของตนเองไปลดหย่อนภาษี ตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 อีกด้วย สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 นางสาวบุปผา กล่าวทิ้งท้าย

HTML::image(