SME D Bank จับมือ ศศินทร์ เผยผลสำรวจดัชนีเชื่อมั่น SMEs ไตรมาส 4/2565 และคาดการณ์อนาคต ปรับเพิ่มขึ้นชัดเจน อานิสงส์การท่องเที่ยวฟื้นตัว หนุนกำลังซื้อในประเทศขยายตัว ภายใต้ยังมีความกังวลเรื่องแนวโน้มต้นทุนธุรกิจขยับ แนะ SMEs คว้าโอกาสทองรับงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ SME D Bank ประกาศพร้อมหนุนเต็มกำลัง ผนึกพันธมิตร พารับแต้มต่อจาก MiT และเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ คงที่ 2 ปี ช่วยฟื้นธุรกิจได้ไม่มีสะดุด
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank มอบหมาย นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ เปิดเผยในการแถลง "ผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ไตรมาส 4/2565 และคาดการณ์อนาคต" โดย "ศูนย์วิจัยและข้อมูล ธพว." ร่วมกับ "ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ว่า ภาพรวมในไตรมาส 4/2565 นั้น SMEs มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยและธุรกิจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวและบริการภายในประเทศฟื้นตัว ผลักดันการใช้จ่ายขยายตัวต่อเนื่อง สนับสนุนให้ผลการดำเนินงานและกำไรของ SMEs ปรับตัวขึ้น เช่นเดียวกับสภาพคล่องและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะ SMEs กลุ่มขนาดกลาง (Medium) มีการฟื้นตัวชัดเจน สะท้อนจากกำไรเทียบเท่าก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 แล้ว อย่างไรก็ตาม SMEs ยังคงมีความกังวลต่อภาวะต้นทุนธุรกิจที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง จากปัจจัย ต้นทุนธุรกิจมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งด้านพลังงาน ค่าแรงงาน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
ดร.มยุขพันธุ์ ไชยมั่นคง ผู้อำนวยการโครงการ ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเสริมว่า จากการสำรวจ SMEs จำนวน 500 ตัวอย่างทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรม ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจในไตรมาส 4 อยู่ที่ระดับ 65.66 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จากไตรมาสที่ 3 ซึ่งอยู่ในระดับ 56.82 จากปัจจัยบวกของมาตรการการเปิดประเทศ สนับสนุนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่แนวโน้มความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้า SMEs ยังมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ อยู่ที่ระดับ 66.46 โดยมีความกังวลต่อต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ได้รับอานิสงส์ จากปริมาณการผลิต จำนวนคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น สนับสนุนผลประกอบการ และสภาพคล่องของธุรกิจเพิ่มขึ้น
ดร.มยุขพันธุ์ กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SMEs ต่อผลกระทบของค่าเงินบาทอ่อนค่า เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ พบว่า SMEs กว่า 61.80% ไม่ได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นผลกระทบทางลบจากต้นทุนการนำเข้าปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ แนวทางในการบริหารต้นทุนทางการเงิน หลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสถาบันทางการเงิน SMEs ส่วนใหญ่กว่า 50.40% มีแนวทางการจัดการต้นทุนทางการเงินโดยการเจรจาต่อรองกับธนาคารเพื่อคงอัตราดอกเบี้ย และ 30% หาแหล่งเงินกู้ใหม่ เพื่อทำการ Refinance เป็นต้น
ทั้งนี้ SMEs จำนวน 85.31% ระบุว่า ได้รับผลกระทบปานกลางจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายของภาครัฐ ส่วน 34.20% เห็นว่าการขึ้นค่าแรงก่อให้เกิดผลเชิงบวก โดยเฉพาะการช่วยทำให้พนักงานมีกำลังใจในการทำงานเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ แนวทางการปรับตัวและความช่วยเหลือที่ต้องการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง เช่น การลดต้นทุนในส่วนอื่น หรือขึ้นราคาสินค้าและบริการ โดยต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ เช่น ลดภาษีและค่าธรรมเนียม หรือขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม จะช่วยชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ ผลสำรวจชี้สาเหตุที่ SMEs ไม่เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (THAI SME-GP) ส่วนใหญ่เชื่อว่า ไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ และคิดว่ามีการจ้างผู้ประกอบการรายเดิมอยู่แล้ว ส่งผลให้รายใหม่มีโอกาสแข่งขันได้ยาก ทำให้ไม่สนใจเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ ต้องการให้ภาครัฐ แบ่งขนาดสัญญาให้มีขนาดเล็กลง ลดความเข้มงวดใน TOR โดยเฉพาะด้านมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อให้ SMEs เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มากขึ้น
นายโมกุล กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า จากผลสำรวจดังกล่าว สะท้อนถึงการฟื้นตัวของ SMEs อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม SMEs ยังคงกังวลเรื่องต้นทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้น SME D Bank จึงวางแนวทางช่วยเหลือ เพื่อลดต้นทุนธุรกิจให้ SMEs ไม่ว่าจะเป็นการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ สนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนในต้นทุนที่สามารถบริหารจัดการได้ เช่น "สินเชื่อ 3D" วงเงินกู้สูงสุดถึง 50 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.5% ต่อปี ที่สำคัญคงที่สูงสุด 2 ปีแรก ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี รวมถึง เปิดรับ Refinance ช่วยให้มีแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำกว่า
ควบคู่การส่งเสริม SMEs กลุ่มดำเนินธุรกิจรับเหมา เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี สร้างโอกาสขยายตลาด เพิ่มรายได้ โดยจะจัดอบรมสัมมนาร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อเติมความรู้ พร้อมเติมทุน "สินเชื่อเสริมสภาพคล่องผู้รับเหมา" วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท นอกจากนั้น ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สนับสนุนให้ได้รับรองสินค้า Made in Thailand (MiT) ซึ่งจะสร้างประโยชน์เพิ่มเติมในการรับแต้มต่อพิเศษเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
"จากผลสำรวจเห็นได้ชัดว่า SMEs มีความเชื่อมั่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม SMEs ควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงรอบด้าน เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในปีหน้า โดย SME D Bank พร้อมเคียงข้าง โดยจะติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับ SMEs อย่างใกล้ชิด เพื่อจะช่วยเหลือ SMEs ได้รวดเร็ว และทันเวลา" นายโมกุล กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit