นางสาวอริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) เป็นประธานเปิดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีแปรรูปมะม่วง หลักสูตรเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ ด้วยเมนูผลไม้เพื่อสุขภาพ จัดโดยกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(ดีพร้อม) ภายใต้โครงการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจการผลิตผลไม้ไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (DIPROM Fruit Creation) โดยมีนางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการฯ นางสาวกชกร บุษราภรณ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคถลาง และคณะผู้บริหารโครงการฯ ให้เกียรติร่วมงาน ณ อาคารตึกการโรงแรม ชั้น 1 ห้องปฏิบัติการเบเกอรี่ วิทยาลัยเทคนิคถลาง จ.ภูเก็ต
นางสาวอริยาพร กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน OTOP ผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจบริการอาหาร และนักศึกษาจบใหม่ในพื้นที่ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมราว 50 คน การอบรมแบ่งเป็นการบรรยายเนื้อหาเกี่ยวกับหลักการพัฒนาเมนูจากมะม่วง หรือมะม่วงที่ผ่านการแปรรูปขั้นต้นมาแล้วให้เป็นเมนูเพื่อสุขภาพที่ตลาดต้องการ และการอบรมเชิงปฏิบัติการที่ทุกคนได้ฝึกกระบวนการแปรรูปตั้งแต่เริ่มต้นจนสำเร็จออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจำนวน 3 เมนู ได้แก่ แยมมะม่วงสุกสูตรหวานน้อยหรือสูตรคีโต โยเกิร์ตมะม่วง และกัมมี่มะม่วง
"เนื่องจากภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ มีความหลากหลายทั้งด้านพฤติกรรมการ บริโภคของนักท่องเที่ยว และด้านธุรกิจบริการอาหาร กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(ดีพร้อม) เล็งเห็นความจำเป็นในการส่งเสริมทักษะการแปรรูปผลไม้ไทยให้แก่ผู้ประกอบการใน จ.ภูเก็ต เพื่อนำความรู้ที่ได้รับจากกิจกรรมในครั้งนี้ กลับไปประยุกต์กับกิจการของตน เพิ่มโอกาสการสร้างรายได้จากเมนูใหม่ และเพิ่มทางเลือกด้านอาหารสุขภาพให้แก่ผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็ช่วยลดการสูญเสียของผลผลิตมะม่วง ซึ่งในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มะม่วงของไทยมีอัตราการขยายตัวของพื้นที่และผลผลิตเพิ่มขึ้น เกิดปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำและล้นตลาดอยู่เนืองๆ"
นางสาวอริยาพร กล่าวต่อว่า การจัดอบรมในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหลักสูตรที่ 2 ภายใต้โครงการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจการผลิตผลไม้ไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (DIPROM Fruit Creation) ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะกระบวนการแปรรูปผลไม้ 3 ชนิด ได้แก่ ฝรั่ง อะโวคาโด และมะม่วง โดยเน้นการนำวัตถุดิบแปรรูปเบื้องต้น จากการอบรมในหลักสูตรที่ 1 เช่น ฝรั่งพิวเร(puree) ผงมะม่วงอบแห้ง มะม่วงพิวเร อะโวคาโดแช่แข็ง และผงอะโวคาโด เป็นต้น มาต่อยอดเป็นเมนูสุขภาพ เพื่อ
สร้างความเชื่อมโยงโซ่อุปทานจากผู้ผลิตสู่ผู้ใช้วัตถุดิบจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้มีวัตถุดิบที่มีคุณภาพสม่ำเสมอใช้ตลอดทั้งปี สามารถควบคุมคุณภาพและรสชาติของเมนูที่ให้บริการได้ โดยเลือกสรรเมนูที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคในปัจจุบัน เช่น สูตรหวานน้อย สูตรคีโต ไขมันต่ำ และเพิ่มใยอาหาร เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจและสามารถไปประยุกต์สูตรอาหารของตนได้ต่อไป รวมทั้งกระตุ้นการบริโภคผลไม้ไทย
กิจกรรมนี้มีเป้าหมายช่วยเพิ่มช่องทางสร้างรายได้แก่ผู้สนใจทั่วไป และผู้ประกอบธุรกิจบริการอาหาร ทั้งแบบมีหน้าร้านและออนไลน์ โดยจัดอบรมทั้งหมด 6 รุ่น มีผู้เข้าร่วมรวมไม่น้อยกว่า 300 คน ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ชลบุรี เพชรบูรณ์ และภูเก็ต สำหรับผู้สนใจที่พลาดการอบรม สามารถติดตาม คลิปวิดีโอถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ ในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป ทางเว็บไซต์ กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (https://iaid.dip.go.th/th)
อนึ่ง สำหรับกิจกรรมหลักสูตรที่ 1 ได้ดำเนินการจัดอบรมไปแล้ว 9 รุ่น มีผู้เข้าอบรมรวม ไม่น้อยกว่า 405 คน ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ จ.ตาก เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ ขอนแก่น เพชรบุรี ราชบุรี และนครปฐม เป็นการจัดกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะกระบวนการแปรรูปผลไม้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันผู้ประกอบการเป้าหมายด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มผลไม้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัตถุดิบแปรรูปเบื้องต้น (intermediate products) ให้มีอายุเก็บรักษานานขึ้น สามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่มได้ เช่น การทำเป็นผง (fruit powder) การทำเป็นเนื้อผลไม้เข้มข้น (puree) และการแช่แข็ง (frozen) เป็นต้น และจะมีการคัดเลือกผู้เข้าอบรมจากหลักสูตรที่ 1 นี้ จำนวน 15 กิจการ เข้าร่วมอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญ คือการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจะเข้าให้คำแนะนำกระบวนการแปรรูป การควบคุมคุณภาพสินค้า รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุน โดยจะมีการสนับสนุนการออกแบบหรือจัดทำฉลากพร้อมบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ นำสินค้าส่งตรวจวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยอาหาร พร้อมให้คำแนะนำการเตรียมความพร้อมเพื่อยื่นขออนุญาตเลข อย. ผลิตภัณฑ์ รวมถึงการจับคู่ธุรกิจรองรับการผลักดันผลิตภัณฑ์สู่ตลาดส่งออกผลไม้แปรรูปต่อไป คาดจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit