ม.มหิดล เชื่อมั่นใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมชีวการแพทย์ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยไทย เข้าถึงการรักษา และชีวิตยืนยาว

02 Dec 2022

ไม่มีใครยอมปล่อยให้บุคคลที่เรารักต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่ไร้การเหลียวแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงวัยและผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการขับถ่ายปัสสาวะ และไม่อยู่ในสภาพที่ช่วยเหลือตัวเองได้ในขณะเดียวกัน

ม.มหิดล เชื่อมั่นใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมชีวการแพทย์ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยไทย เข้าถึงการรักษา และชีวิตยืนยาว

รองศาสตราจารย์ ดร.นรเศรษฐ์ ณ สงขลา รองคณบดีฝ่ายวิจัย และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนักวิจัยและนวัตกรผู้มีศักยภาพสูงในการนำเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวการแพทย์มาใช้แก้ปัญหาของผู้ป่วยไทย

ด้วยเทคโนโลยี "Nano Coating" ที่ได้นำมาใช้กับแผ่นรองนอน โดยเคลือบสารที่มีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อ เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยคุณภาพของ รองศาสตราจารย์ ดร.นรเศรษฐ์ ณสงขลา ซึ่งได้ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยและผู้ป่วยติดเตียงของไทยดีขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าแผ่นรองนอนจากต่างประเทศที่มีราคาแพง

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.นรเศรษฐ์ ณ สงขลา ยังได้ออกแบบแผ่นรองนอนเคลือบสารนาโนต้านแบคทีเรียดังกล่าว ให้เป็นแผ่นรองนอนแบบพร้อมใช้ เหมาะสำหรับนำไปใช้ในบ้าน และสถานพยาบาล-พักฟื้น เพื่อขจัดปัญหาผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวพลิกตัวจนเกิดแผลกดทับ อีกทั้งยังต้องติดเชื้อจากการที่แผลกดทับนั้นไปสัมผัสกับแผ่นรองนอนที่เปื้อนปัสสาวะเป็นเวลานาน

ซึ่งเป็นทิศทางการสร้างสรรค์และพัฒนางานวิจัยจากโจทย์จริงที่ได้จากผู้ป่วยโดยตรง โดยนอกจากที่ รองศาสตราจารย์ดร.นรเศรษฐ์ ณ สงขลา ได้นำเทคโนโลยี Nano Coating มาใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยและผู้ป่วยติดเตียงดังกล่าวแล้ว ยังได้สร้างสรรค์และพัฒนาระบบส่งยาต้านมะเร็งโดยการใช้ชีววัสดุเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพ และยืดระยะเวลาการรอดชีวิตของเซลล์ ซึ่งนับเป็นเทรนด์ใหม่ของการนำเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวการแพทย์มาใช้เพื่อแก้ปัญหาของผู้ป่วยไทยในอนาคต

ด้วยการทดลองบรรจุยาต้านมะเร็งในสารอนุภาคนาโน แล้วทำการรักษาโดยฉีดเข้าเส้นเลือด จากผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า ไม่เป็นพิษต่อสัตว์ทดลอง และสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งตับได้

สำหรับในปีหน้า 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.นรเศรษฐ์ ณสงขลา เตรียมวางแผนเดินหน้าโครงการวิจัยด้วยเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวการแพทย์ถึง 12 โครงการ โดยเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพแห่งนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล จะสามารถพิสูจน์ได้ถึงปณิธาน "ปัญญาของแผ่นดิน" ที่พร้อมสร้างสรรค์และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ เพื่อให้ผู้ป่วยชาวไทยได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษา และมีชีวิตที่ยืนยาวได้ต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th