นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ คว้าทุน จากโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ "การบูรณาการคุณลักษณะทางนิเวศสรีรวิทยาของหญ้าทะเลเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศและความสามารถในการกักเก็บคาร์บอน" ออกแบบเครื่องมือเพิ่มศักยภาพการเก็บคาร์บอนและเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล
รศ. ดร.พิมพ์ชนก บัวเพชร หลักสูตรชีววิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับทุนในสาขาชีวภาพในงานวิจัย "การบูรณาการคุณลักษณะทางนิเวศสรีรวิทยาของหญ้าทะเลเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศและความสามารถในการกักเก็บคาร์บอน" จากโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ลอรีอัลให้ความสำคัญในการดำเนินงานทั่วโลกอย่างต่อเนื่องและวิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญและเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติ โดยให้สตรีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปิดมุมมองใหม่ๆ ด้านงานวิจัยเพราะเชื่อว่า โลกต้องการวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต้องการสตรี
งานวิจัย "การบูรณาการคุณลักษณะทางนิเวศสรีรวิทยาของหญ้าทะเลเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศและความสามารถในการกักเก็บคาร์บอน" ได้วิจัยเกี่ยวกับหญ้าทะเลที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ จัดเป็นหนึ่งในระบบนิเวศคาร์บอนสี มีบทบาทโดดเด่นในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แหล่งหญ้าทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถกักเก็บคาร์บอนได้สูง ซึ่งปัจจุบันพื้นที่หญ้าทะเลที่สมบูรณ์ลดลงต่อเนื่อง แม้ประเทศไทยมีโครงการฟื้นฟูหญ้าทะเลมายาวนาน แต่ต้องศึกษาเพิ่มเติมและติดตามระยะยาวอย่างเป็นระบบ
งานวิจัยนี้นับเป็นโครงการแรกในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่บูรณาการองค์ความรู้ด้านนิเวศสรีรวิทยาเพื่อเพิ่มความสำเร็จในการฟื้นระบบนิเวศหญ้าทะเล ทีมวิจัยเลือกศึกษาเปรียบเทียบพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์และแหล่งหญ้าทะเลที่มีโครงการพื้นฟู โดยมุ่งเน้นศึกษาหญ้าคาทะเลซึ่งมีศักยภาพกักเก็บคาร์บอนสูงและเป็นหนึ่งในชนิดหลักที่ใช้พื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในประเทศไทย ผลการศึกษาจากงานวิจัยนี้เป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนการฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเลและช่วยระบุสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงปัจจัยคุกคามเพื่อเพิ่มโอกาสและความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเลนำไปสู่การลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และเป็นแนวทางการจัดการทรัพยากรหญ้าทะเล เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนต่อไป
นอกจากนี้ การฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเลยังเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ได้รับความสนใจทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพราะไม่เพียงจะเพิ่มศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนของพื้นที่ แต่ยังนำไปสู่การเพิ่มแหล่งที่อยู่ของสัตว์ทะเล การรักษาระดับธาตุอาหารในน้ำและลดการกัดเซาะชายฝั่ง อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อแวดวงวิชาการระดับนานาชาติ สามารถนำไปต่อยอดการฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่อื่นๆ ได้ต่อไป
รศ. ดร.พิมพ์ชนก บัวเพชร กล่าวว่า ทุนวิจัยลอรีอัลเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ เป็นทุนที่สนับสนุนงานวิจัยที่ดำเนินการอยู่แล้วและต้องการต่อยอดรวมถึงยังเป็นงานวิจัยที่ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs Sustainable Development Goals ขององค์การสหประชาชาติ โดยงานวิจัยเรื่อง "การบูรณาการคุณลักษณะทางนิเวศสรีรวิทยาของหญ้าทะเลเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศและความสามารถในการกักเก็บคาร์บอน" เป็นประเด็นที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญทั้งในระดับชาติและนานาชาติ สอดคล้องกับแนวคิดทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศขององค์การสหประชาชาติ และยังเป็นหนึ่งใน flagship ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ดำเนินการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง
"งานวิจัยดังกล่าว เป็นการใช้ความรู้และเทคนิคที่มีในการฟื้นฟูระบบนิเวศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีแนวทางที่เป็นวิทยาศาสตร์และเครื่องมือมาสนับสนุนข้อมูล และหวังว่าข้อมูลที่เก็บนั้นจะเป็นประโยชน์และถูกนำไปให้คนที่ต้องการใช้งาน สุดท้ายเป้าหมายของงานวิจัยนี้ คืออยากได้เครื่องมือที่ช่วยในการตัดสินใจให้กับคนที่ทำงานด่านหน้าจริงๆ" รศ. ดร.พิมพ์ชนก กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit