กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินโครงการศูนย์ BCG Farming ต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ณ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี บนพื้นที่ 70 ไร่ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาพื้นที่ สร้างต้นแบบเชิงรูปธรรม ทั้งภาคการผลิต การแปรรูป การตลาด สู่การสร้างประโยชน์ให้ชุมชนในพื้นที่และพื้นที่อื่นๆ ในการศึกษาดูงานและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้าน BCG
ศ.(วิจัย)ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้พื้นที่เกาะสมุย มีภาวการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจลดลง ธุรกิจการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุดในประเทศไทยอันดับต้นๆ เพราะนักท่องเที่ยวร้อยละ 95 เป็นชาวต่างชาติ ประชากรแฝงที่มาทำงานที่เกาะสมุยกลับถิ่นฐาน ทำให้สภาพเศรษฐกิจของคนเกาะสมุยถดถอย เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นเกาะเดินทางเข้าและออกลำบาก การเกษตรกรรมตามแนวทาง BCG จึงเป็นทางเลือกของชุมชนที่สามารถผลิต แปรรูป สร้างแหล่งอาหารเพื่อการบริโภค ลดรายจ่ายครัวเรือนภายในชุมชน เกิดการรวมกลุ่มที่สามารถเปลี่ยนปัจจัยการผลิต ผลผลิต และแปรรูปผลผลิตร่วมกัน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดย โครงการศูนย์ BCG Farming ต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่ง วว. ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ดำเนินการในพื้นที่เกาะสมุย สามารถตอบโจทย์และช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยสามารถสร้างศูนย์ต้นแบบ BCG ทางการเกษตร สำหรับเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานและถ่ายทอดเทคโนโลยี มีการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายชีวภาพทางการเกษตร เพื่อการผลิตสินค้าเกษตรและแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างวิทยากรภายในศูนย์ที่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีด้าน BCG แก่ผู้อื่นต่อได้ และทำให้เกิดชุมชนที่นำผลจากการศึกษาดูงานเชิงปฏิบัติการไปพัฒนาชุมชนตามแนวทาง BCG
ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงาน โครงการศูนย์ BCG Farming ต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ได้บูรณาการกับหน่วยงานวิจัยภายใน วว. ได้แก่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ และศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขับเคลื่อนโครงการทั้งด้านต้นน้ำคือ เกษตรกรรม กลางน้ำคือ การแปรรูปอาหาร การแปรรูปเครื่องสำอาง ปลายน้ำคือ บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ บนฐานทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น ผ่านการขับเคลื่อนโดยชุมชนในท้องที่ สู่การสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง และยั่งยืน นำร่องโครงการ ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ ประกอบด้วยกิจกรรม การปลูกพืชในระบบโรงเรือน (ปลูกพืชแบบไร้ดินหรือไฮโดรโปรนิกส์ การพัฒนาระบบการปลูกพืชมูลค่าสูง) การเพิ่มผลผลิตในพืชสมุนไพร การผลิตเห็ดเศรษฐกิจ (เห็ดนางรมเทา เห็ดแครง เห็ดนางฟ้าภูฐานดำ) การผลิตข้าวเสริมซีลีเนียม การแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นอาหาร (น้ำสลัดสูตรผู้ประกอบการ/สูตรไขมันต่ำ เห็ดอบกรอบ เห็ดหยอง น้ำพริกเห็ด ข้าวพองอบกรอบ เจลลี่ไข่ขาว กล้วยอบแห้ง กล้วยทอดกรอบ) การแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นเครื่องสำอาง (การสกัดสารจากพืชสมุนไพร ผลิตภัณฑ์แชมพู/ครีมนวดผม สบู่เหลว/สบู่ก้อน โลชั่นบำรุงผิวกาย โลชั่นบำรุงผิวหน้า) และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติสำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูป
"...จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้สร้างโรงเรือนเปิดดอกและสถานที่ผลิตก้อนเชื้อเห็ด ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย การเปิดดอกเห็ดสกุลนางรม ได้แก่ เห็ดนางรมเทา 2 โรงเรือน โรงเรือนละ 2,000 ก้อน รวมทั้งหมด 4,000 ก้อน เห็ดนางฟ้าภูฐานดำ จำนวน 2 โรงเรือน โรงเรือนละ 2,000 ก้อน รวม 4,000 ก้อน เห็ดแครง 1 โรงเรือน จำนวน 2,000 ก้อน รวม 5 โรงเรือน จำนวนก้อนทั้งหมด 10,000 ก้อน มีการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีการจัดการการผลิตเห็ด ฝึกปฏิบัติขั้นตอนการผลิตเห็ดเศรษฐกิจแบบครบวงจร การเพาะเห็ดเศรษฐกิจ และนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง อาทิ หลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตเห็ดเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ และการผลิตก้อนเห็ดในระบบถุงพลาสติก นอกจากนี้ยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตข้าวเสริมซีลีเนียม และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีเสริมซีลีเนียม พร้อมทั้งจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อขยายผลไปสู่เกษตรกรนอกวิทยาลัย จัดทำแปลงผลิตข้าวเสริมซีลีเนียมจำนวน 7 แปลง ในพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ ขณะนี้ได้เก็บเกี่ยวข้าวแล้ว สามารสสร้างอาชีพทำให้เกิดรายได้และเป็นต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได?อย่างยั่งยืน..." ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ กล่าว
อนึ่ง อำเภอเกาะสมุย มีเนื้อที่ 152,723 ไร่ มีการปกครอง คือ เทศบาลนครเกาะสมุย โดยขอบเขตการปกครองครอบคลุม 7 ตำบล เศรษฐกิจของอำเภอเกาะสมุยขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว การบริการ และการเกษตร โดยภาคการท่องเที่ยวทำรายได้ให้กับเกาะสมุยสูงสุด ประมาณ 9,000-12,000 ล้านบาท/ปี ภาคการเกษตร มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบด้วย ไม้ยืนต้นและไม้ผล โดยไม้ผลที่มีการเพาะปลูกค่อนข้างมาก ได้แก่ มะพร้าว มีพื้นที่เพาะปลูก 89,250 ไร่ ส่วนการเกษตรในด้านอื่นๆ อาทิ การประมง การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์น้ำ และการเลี้ยงสัตว์ เป็นกิจกรรมที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก
สอบถามรายละเอียดและรับบริการ ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. โทร. 0 2577 9004 โทรสาร 0 2577 9004 E-mail : [email protected]
นำเสนอข่าวโดย กองประชาสัมพันธ์ สำนักสื่อสารองค์กร วว. โทร. 0 2577 9360 E-mail : [email protected] Line@TISTR IG : tistr_ig
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit