นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เปิดตัวโครงการ "GAP Monkey Free Plus" (MFP) ในเวทีการประชุมมะพร้าวระดับโลก "Consultative Virtual Meeting On Thailand Proposal for GAP Monkey Free Plus ซึ่งเป็นการประชุมที่ดำเนินการโดย International Coconut Community (ICC) ว่า กระบวนการไม่ใช้แรงงานสัตว์ (ลิง) จะเป็นระบบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสมาชิก ICC และ Third Party เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมมะพร้าวส่งออกไทย
วันที่ 6 ธันวาคม 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เดินทางไปเป็นประธานการประชุมชี้แจงการดำเนินมาตรการป้องกันการใช้แรงงานลิงในกระบวนการผลิตมะพร้าวเพื่อการส่งออก (Monkey Free Plus) และมอบหนังสือรับรองแปลงผลิตมะพร้าวปลอดภัยและไม่ใช้ลิง บ.เทพดุงพรมะพร้าว จำกัด จ.ราชบุรี และบริษัท เค-เฟรช จำกัด จ.สมุทรสาคร
ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตร ได้เชิญชวนเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวที่ได้รับการรับรอง GAP แล้ว เข้าสู่กระบวนการตรวจรับรองเป็นแปลงไม่ได้ใช้ลิงในการเก็บเกี่ยว โดยสมัครเข้ารับการตรวจได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรใกล้บ้าน ส่วนแปลงที่ยังไม่ได้รับการรับรองเป็นแปลง GAP ก็ขอเชิญชวนให้สมัครเข้ารับการตรวจประเมิน ซึ่งการตรวจประเมิน สามารถทำควบคู่กันไป คาดว่าหลังจากนี้จะมีแปลงมะพร้าวที่ได้รับการรับรองเป็นแปลง GAP Monkey Free Plus จำนวนมาก ซึ่งเชื่อมั่นว่าการดำเนินการตามมาตรการ GAP monkey free plus จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมมะพร้าวไทย และพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวอย่างแน่นอน
ในส่วนของผู้ประกอบการ นายสายชล จ้อยร่อย Supplier รายใหญ่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ตัวเองได้มองเห็นความจำเป็นที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าว่า การส่งออกมะพร้าว ต้องเป็นไปตาม มาตรฐาน GAP Monkey Free Plus ดังนั้นจึง ยินดีสนับสนุนในการตรวจรับรองแปลง GAP และ การไม่ใช้ลิง ในการเก็บมะพร้าว โดยยินดีเป็นผู้นำในการตรวจรับรอง และสนับสนุนเกษตรกรที่รับซื้อ เข้ารับการตรวจรับรองเช่นกัน
ในส่วนของผู้ดูแลการรับซื้อวัตถุดิบ เจ้าหน้าที่ของบริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ได้กล่าวว่า ถ้าผู้ประกอบการล้งเข้าใจในมาตรการการตรวจรับรองแปลงแล้ว จากนั้นล้ง จะให้คำแนะนำเกษตรกรในเครือข่ายสู่กระบวนการตรวจรับรองแปลงต่อไป การรับรองจากภาครัฐ ลูกค้าของบริษัท จะให้ความเชื่อมั่นและยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการดำเนินการตรวจรับรองแปลง GAP
ประเทศไทยเป็นผู้ครองส่วนแบ่งการตลาดผลิตภัณฑ์กะทิมากที่สุดในอเมริกาและยุโรป ในปี 2564 ส่งออกผลิตภัณฑ์กะทิ 236,323 เมตริกตัน มูลค่า 12,800 ล้านบาท รวมทั้งส่งออกมะพร้าวอ่อน 8,000 เมตริกตัน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยผลิตมะพร้าวได้เพียง 917,606 ต้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ในช่วงที่มะพร้าวขาดแคลน จึงต้องนำเข้า กรมวิชาการเกษตรจึงส่งเสริมให้มีการปลูกมะพร้าวใหม่ หรือปลูกทดแทนในสวนเดิม ด้วยพันธุ์ดี และสนับสนุนมาตรการ GAP monkey free plus เพื่อเป็นฐานที่มั่นคงต่อการต่อยอดในอุตสาหกรรมมะพร้าวไทยต่อไป
"กรมวิชาการเกษตร โดย เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยพืชสวน เจ้าหน้าที่ กองพัฒนาระบบและมาตรฐานสินค้าพืช และ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี ได้ลงพื้นที่นำร่อง จ. สมุทรสาคร โดยร่วมกับบริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด บริษัท เค-เฟรซ จำกัด และ บริษ้ทเอ็นซีโคโคนัท จำกัด เพื่อ Kick off การตรวจสอบแปลงมะพร้าวตามข้อกำหนด GAP Monkey Free Plus และมอบใบรับรองแปลง GAP Monkey Free Plus ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว เพื่อยืนยันว่าการปลูกมะพร้าวของไทย ไม่มีการใช้แรงงานลิงและเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับ" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit