บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงเครดิตพินิจเป็นลบ (Rating Watch Negative) ต่ออันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ซึ่งอยู่ที่ 'A+(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ซึ่งอยู่ที่ 'F1(tha)'
ฟิทช์ได้นำอันดับเครดิตของ DTAC เข้าสู่เครดิตพินิจเป็นลบ (Rating Watch Negative) ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 หลังจากที่คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติ ให้บริษัทฯ เข้าทำสัญญาควบรวมกิจการกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ฟิทช์จะพิจารณายกเลิกเครดิตพินิจ หลังจากที่การควบรวมกิจการแล้วเสร็จ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 DTAC ได้รับหนังสือจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ แจ้งการรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างบริษัทฯ และ TRUE โดยบริษัทฯ อยู่ระหว่างการประเมินเงื่อนไขที่มีการกำหนดต่อบริษัทที่จะมีการจัดตั้งใหม่
เครดิตพินิจเป็นลบสะท้อนมุมมองของฟิทช์ที่ว่า อันดับเครดิตของบริษัทที่จะมีการจัดตั้งใหม่ หรือ NewCo น่าจะอ่อนแอกว่าอันดับเครดิตของ DTAC ก่อนที่จะมีการควบรวมกิจการ โดยฟิทช์มองว่าสถานะทางการตลาด และการกระจายตัวของการให้บริการที่ดีขึ้น อาจไม่เพียงพอในการชดเชยสถานะทางการเงินที่อ่อนแอลงจากอัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของ NewCo จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาผลกระทบจากการควบรวมกิจการ เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงนโยบายทางการเงินหลังการควบรวมกิจการด้วย ซึ่งถ้ามีการพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต ก็ไม่น่าจะเกินหนึ่งอันดับ
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
การควบรวมกิจการเพิ่มความแข็งแกร่งสถานะทางธุรกิจ: การควบรวมกิจการดังกล่าวน่าจะให้ประโยชน์ร่วมกันในระยะยาวแก่ DTAC และ TRUE ในการแข่งขันด้านราคาในการให้บริการด้านข้อมูล และความสามารถในการรองรับการให้บริการของโครงข่าย การควบรวมกิจการจะทำให้สถานะทางการตลาดของ NewCo แข็งแกร่งขึ้น และกลายเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่าร้อยละ 50 จากส่วนแบ่งทางการตลาดของ TRUE ที่ร้อยละ 31 และ DTAC ที่ร้อยละ 22 ในปี 2564 นอกจากนี้ จำนวนคลื่นความถี่ที่มากขึ้นจะทำให้ NewCo แข่งขันกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ซึ่งมีอันดับเครดิต 'AA+(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ได้ดียิ่งขึ้น
อัตราส่วนหนี้สินของ NewCo ที่สูงขึ้น: ฟิทช์มองว่าสถานะทางการตลาดที่ปรับตัวดีขึ้นของ DTAC อาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยอัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้นของ NewCo ฟิทช์ประมาณการว่า อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA net leverage) ของ NewCo จะอยู่ที่ระดับประมาณ 4 เท่า หลังจากมีการควบรวมกิจการโดย EBITDA ของ DTAC ในปี 2564 อยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท และมีอัตราส่วน EBITDA net leverage ที่ 2.5 เท่า ในขณะที่ TRUE มี EBITDA ที่ 4.3 หมื่นล้านบาท และมีอัตราส่วน EBITDA net leverage ที่ 4.7 เท่า
การแข่งขันที่รุนแรงน้อยลงในระยะยาว: ฟิทช์เชื่อว่าการควบรวมกิจการจะช่วยให้ค่าบริการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีเสถียรภาพมากขึ้น และสนับสนุนการทำกำไร ในระยะยาว การแข่งขันด้านราคาสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2565 ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยสภาพการดำเนินธุรกิจที่ท้าทายจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ทำให้มีการแข่งขันด้านราคาเป็นระยะๆ เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ฟิทช์คาดว่าการควบรวมกิจการน่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน และค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานได้มากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ากระบวนการควบรวมการดำเนินงาน และโครงข่ายของทั้งสองบริษัทจะดีและเร็วมากแค่ไหน
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
อันดับเครดิตที่ 'A+(tha)' ของ DTAC สะท้อนถึงสถานะเครดิตโดยลำพัง จากขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า และอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่าคู่แข่ง ซึ่งได้แก่ AIS อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการระหว่าง DTAC และ TRUE หากเสร็จสิ้น จะเพิ่มความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดของ NewCo ในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ประมาณการอัตราส่วนหนี้สินของ NewCo ยังคงสูงกว่าของ AIS อย่างมาก แม้ว่าอัตราส่วนหนี้สินของ NewCo ในอนาคตยังคงขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเงินหลังการควบรวมกิจการ
ฟิทช์มองว่าสถานะทางเครดิตของ DTAC อยู่ในระดับเดียวกันกับ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ซึ่งมีอันดับเครดิต 'A+(tha)' แนวโน้มเครดิตเป็นลบ ฟิทช์มองว่า SCC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า DTAC เนื่องจากเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีกระแสเงินสดที่ใหญ่กว่า และมีการกระจายตัวของธุรกิจที่มากกว่า ในธุรกิจเคมี และผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ ปัจจัยดังกล่าวช่วยลดทอนอัตราส่วนหนี้สินของ SCC ที่สูงกว่า ดังนั้นบริษัททั้งสองจึงมีอันดับเครดิตเท่ากัน
สมมุติฐานที่สำคัญ:
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่บริหารจัดการได้: ฟิทช์มองว่าสภาพคล่องของ DTAC สามารถบริหารจัดการได้ในปี 2566 โดยสภาพคล่องของ DTAC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 5.9 พันล้านบาท และ วงเงินกู้ที่สามารถเบิกถอนได้จำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน ปี 2565 และ ความสามารถในการเข้าถึงตลาดเงินกู้ภายในประเทศ บริษัทมีหนี้จำนวน 8 พันล้านบาท ที่ถึงกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจากเดือนกันยายนปี 2565
เกี่ยวกับบริษัท
DTAC เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออันดับที่ 3 ในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการที่ร้อยละ 22 ในปี 2564 โดย DTAC มี Telenor เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit