ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เป็นประธานเปิดการประชุม PMU Forum Retreat ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรม เดอะ คาวาลิ คาซ่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวน แลกเปลี่ยน และรับฟังข้อเสนอแนะหรือความคิดเห็นร่วมกันของหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในเชิงกลยุทธ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ประธาน กสว. ระบุว่า ที่ผ่านมาในเชิงการทำงานได้มีการวางระบบในระดับหนึ่งแล้ว การร่วมคิดและร่วมหารือกันทำงานแบบพี่น้องจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน เพื่อหาวิธีบริหารจัดการและการสื่อสารระหว่างกัน ทำให้การทำงานประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และใช้ 'ผลผลิตร่วม ววน.' เป็นตัวแสดงในระบบติดตามประเมินผล ขณะที่ ศ. ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ประธานอำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สิ่งที่ยังขาดและจะทำให้เกิดความเข้มแข็งในการทำงานเชิงนโยบาย คือ การทอนยุทธศาสตร์ในภาพรวมลงมาเป็นสิ่งที่วัดได้ และต้องตอบคำถามแรกให้ได้ว่าจะทำอะไรให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังต้องมีเครื่องมือที่ใช้ร่วมกัน วางแนวคิดและติดตามผลเพื่อให้คุยกันง่ายขึ้น และมีการประเมินผลที่เข้าใจตรงกัน
ด้าน รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สิ่งที่คาดหวังจากเวทีนี้คือภาพที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยกันในบทบาทของหน่วยบริหารและจัดการทุน ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบ ววน. ของประเทศ ได้ทบทวนปัญหาอุปสรรคพร้อมกับแนวทางที่จะขับเคลื่อน โดยก้าวต่อไปคือ ทำน้อยได้มาก และเป็นทีมเดียวกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศและมีผลกระทบสูง
สำหรับประเด็นสำคัญในการแสวงหาเป้าหมายร่วมกัน ได้แก่ การปรับเป้าหมายการทำงานเพื่อใช้เงินตามเป้าประสงค์ของ ววน. โดยการสร้างความเข้าใจร่วม มีแนวทางการทำงานร่วมกัน และอยากเห็นแพลตฟอร์มการทำงานที่เชื่อมโยงกัน มี Gray area ที่มีการพูดคุยกันของหน่วยบริหารและจัดการทุนทำงานในประเด็นเดียวกัน โดยมีความท้าทายในช่วง 1-5 ปี คือ กระบวนการทำงานน้อยแต่มาก และไม่สร้างภาระงานเพิ่มแก่หน่วยบริหารและจัดการทุนโดยไม่จำเป็น แลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และร่วมกันพัฒนานักวิจัยให้มีคุณภาพเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายของ ววน. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังขาดคนวิเคราะห์ภาพใหญ่ให้ชัดเจนว่ามีช่องว่างอยู่ที่ใด สกสว.และหน่วยบริหารและจัดการทุนต้องทำอะไรเพื่อปิดช่องว่างนั้น
ขณะที่การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบภายใต้แผนระยะ 5 ปี คือ การเพิ่มขีดความสามารถ และการนำความรู้ไปสร้างความยั่งยืนในมิติของสังคม โดยตั้งเป้าไว้ว่าประเทศไทยต้องมีอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) และมีอันดับดัชนีความยั่งยืน (SDG Index) ที่สูงขึ้นอยู่ใน 35 อันดับแรก เกิดผลลัพธ์ที่ได้รับจากการจัดสรรงบประมาณ ทั้งด้านสังคม ชุมชน พื้นที่ และด้านกำลังคน ระบบนิเวศ โดยมีหน่วยงานในระบบ ววน. เป็นกำลังหลักที่จะส่งมอบผลผลิตแก่ฝ่ายนิติบัญญัติในการชี้แจงงบประมาณ สามารถตอบสนองประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้เชื่อมั่นว่าการลงทุนด้าน ววน. ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของประเทศได้จริง ดังนั้นจึงต้องร่วมกันกำหนดเป้าหมายร่วมในการส่งมอบผลสัมฤทธิ์ 5 ปี และแนวทางการทำงานเพื่อนำส่งตัวชี้วัดต่าง ๆ และนำไปสู่การขับเคลื่อน ววน. ให้ประสบความสำเร็จ
ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว.จะรวบรวมข้อมูลและสรุปให้เป็นระบบเพื่อสื่อสารกับหน่วยงานอันจะเป็นประโยชน์ต่อทำงาน และคิดต่อว่าจะพัฒนากลไกขับเคลื่อนอย่างไร โดยนำความเห็นของทุกคนที่ร่วมเวทีไปประกอบการทบแทนแผนด้าน ววน. ระยะ 5 ปี โดยในระยะสั้นจะทบทวนเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (OKRs) การสร้างศักยภาพของบุคลากร การจัดทำคู่มือหรือหลักสูตรเพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกันและเครื่องมือหนุนเสริมที่จำเป็น เช่น การสร้างวิจัยเชิงระบบ รวมถึงการติดตามประเมินผลการทำงาน ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าจะได้เห็นพลังที่มีความมุ่งมั่นและเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง สกสว. และหน่วยบริหารและจัดการทุน
"ข้อสังเกตจากเวทีนี้คือ เราจะมีอะไรส่งมอบผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบบ้าง ซึ่งจะต้องมีความสามารถในการเล่าเรื่องและเขียนเส้นทาง มีคำตอบที่เริ่มจากกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน จะเดินทางไหนเพื่อช่วยบูรณาการโครงการต่าง ๆ ที่จะเข้ามา และเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะใช้ร่วมกันเพื่อให้เห็นความสอดคล้องของงานมากขึ้น นอกจากนี้อยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม เช่น Covid-19 เพื่อสร้างความตระหนักแก่สังคม รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นในการทำงานร่วมกันด้วย" ประธานอำนวยการ สกสว. กล่าวสรุป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit