ม.มหิดล จุดประกายลดโลกร้อน อุ่นไอมิตรภาพ ด้วย "ผักระเบียงรัก"

19 Dec 2022

จะดีเพียงใดถ้าการปลูกผักเป็นได้มากกว่า "การสร้างแหล่งอาหาร" ให้ได้อิ่มท้อง แต่คือ "การสร้างสัมพันธภาพ" ระหว่างผู้คน เป็น "ผักระเบียงรัก" จากแนวคิดลดโลกร้อน สู่อุ่นไอรักแห่งมิตรภาพ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ"มหาวิทยาลัยแห่งสุขภาวะ" พร้อมหยิบยื่นให้ด้วยความห่วงใยสุขภาพ

ม.มหิดล จุดประกายลดโลกร้อน อุ่นไอมิตรภาพ ด้วย "ผักระเบียงรัก"

อาจารย์ ดร.วีรฉัตร์ ฉัตรปัญญาเจริญ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและกายภาพ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แนวคิดเรื่องการปลูกผักริมระเบียงเพื่อลดโลกร้อนของคณะฯ เริ่มต้นมาแล้ว 2 ปีเศษ ตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ว่าด้วยเรื่อง "Management for Self-sufficiency and Sustainable"

ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDGs) ตามกระแสโลกในยุคปัจจุบัน

โดยเป็นการร่วมแรงร่วมใจเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนและเป็นแบบอย่างสู่คนรุ่นลูกหลาน ซึ่งการปลูกผักริมระเบียงเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ชีวิตสังคมเมืองที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากเป็นการช่วยลดโลกร้อนแล้ว และยังช่วยลดค่าครองชีพได้ในยามวิกฤติ

นายอภิรมย์ อังสุรัตน์ หัวหน้างานกายภาพและบริการพื้นฐาน สำนักงานคณบดี คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า การปลูกผักริมระเบียงดูแลง่าย โดยไม่ต้องลงสนาม หรือพื้นที่กว้าง

ที่ผ่านมาทางคณะฯ ได้ใช้พื้นที่ระเบียงของทั้ง 2 อาคาร ซึ่งเดิมใช้ปลูกดอกไม้เพื่อให้ดูงดงาม แต่ต้องคอยดูแลไม่ให้เหี่ยวเฉา เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกผัก นอกจากจะสามารถนำไปบริโภคได้แล้ว ยังให้ความงดงามดุจดอกไม้จากการทำให้ผู้คนในคณะฯ ได้ร่วมดูแลผักปลอดสารพิษและดูแลสุขภาพกายและใจ จากการหยิบยื่นผักปลอดสารพิษที่ดีและปลอดภัยต่อสุขภาพให้กันและกัน

โดยเป็นโครงการที่ต่อยอดจากการทำปุ๋ยหมักชีวภาพจากเศษใบไม้และเศษอาหารที่ย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ ด้วยนวัตกรรมที่ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มขึ้น และมองว่าหากได้นำมาใช้ปลูกผักที่ทุกคนบริโภคได้ ไม่ต้องการดูแลมาก และพร้อมเก็บเกี่ยวได้อย่างต่อเนื่อง จะทำให้ได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น

จึงได้นำเมล็ดพืช อาทิ ผักบุ้ง ทานตะวัน ผักกวางตุ้ง ฯลฯมาทดลองปลูก และเก็บเกี่ยวในระยะที่ยังเป็นต้นอ่อน ซึ่งใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ต่อหนึ่งรอบการปลูก เพื่อให้ได้ยอดอ่อนผักบุ้งขนาด 30 เซนติเมตร ยอดอ่อนทานตะวันขนาด 12 เซนติเมตร และยอดอ่อนกวางตุ้งขนาด 30 เซนติเมตร พร้อมเก็บเกี่ยว และจำหน่ายให้กับนักศึกษาและบุคลากรของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนผู้ที่แวะเวียนมาที่โรงอาหาร และร้านมือสองของคณะฯ

จากผักสวนครัวที่หาได้โดยทั่วไป สู่ "ผักระเบียงรัก" ที่ทำให้ผู้คนภายในคณะฯ ได้คุยกันฉันท์พี่น้อง แลกเปลี่ยนภาพเมนูผักปลอดสารพิษที่นำไปสร้างสรรค์ขึ้นอย่างหลากหลาย เป็น"กำไร" ที่วัดไม่ได้เป็นจำนวนเงิน แต่ให้ "คุณค่าทางจิตใจ" ผลที่ได้จึงคุ้มค่าเหนือสิ่งอื่นใด

ในอนาคต คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล จึงตั้งใจจะขยายผลต่อยอดโครงการปลูกผักริมระเบียง ให้สามารถเพิ่มผลผลิต เพื่อกระจายความสุข โอกาสในการมีสุขภาพดี และคุณภาพชีวิตที่ดีสู่ประชาชนต่อไป ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับรายละเอียดเพื่อนำไปเป็นแนวทางประยุกต์ใช้ในครัวเรือน หรือชุมชนต่อไปได้ที่ งานกายภาพและบริการพื้นฐาน สำนักงานคณบดี คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม โทร. 0-2441-5000 ต่อ 1116

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) กองบริหารงานทั่วไปสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

HTML::image(