CGTN: จีนอัดฉีดพลังเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก

19 Dec 2022

ความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพที่มีต่อการพัฒนามนุษย์สามารถวัดได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพีโลกมาจากทรัพยากรธรรมชาติ และการดำรงชีวิตของประชากรกว่า 3 พันล้านคนขึ้นอยู่กับความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง อย่างไรก็ตาม ระบบนิเวศของโลกกำลังถูกคุกคาม โดยสถิติขององค์การสหประชาชาติแสดงให้เห็นว่า 97% ของระบบนิเวศเสื่อมโทรมลง

นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมกันตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะกล่าวสุนทรพจน์ผ่านวิดีโอในพิธีเปิดการประชุมระดับสูงภายใต้การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (COP15) ช่วงที่ 2 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า เราจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อสรุปกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี 2563 (Post-2020 Global Biodiversity Framework) รวมถึงระบุเป้าหมายและแนวทางสำหรับการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก

นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า จีนจะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ผ่านกลุ่มพันธมิตรเพื่อการพัฒนาสีเขียวระหว่างประเทศภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative International Green Development Coalition หรือ BRIGC) เพื่อยกระดับธรรมาภิบาลความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกให้สูงขึ้นไปอีกขั้น

นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงกองทุนความหลากหลายทางชีวภาพคุนหมิง (Kunming Biodiversity Fund) ในระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าจีนจะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

ในการประชุมสุดยอดผู้นำ COP15 ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว นายสี จิ้นผิง ได้ประกาศความคิดริเริ่มของจีนในการจัดตั้งกองทุนความหลากหลายทางชีวภาพคุนหมิง และเป็นผู้นำด้วยการลงทุน 1.5 พันล้านหยวน (ราว 215 ล้านดอลลาร์) เพื่อสนับสนุนการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้สนับสนุนความพยายามในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพระหว่างประเทศ จีนเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่ลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ โดยได้กลายเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดในด้านงบประมาณหลักและพิธีสารต่าง ๆ นับตั้งแต่ปี 2562

รายงานสมุดปกขาวว่าด้วยการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของจีนระบุว่า จีนได้สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนากว่า 80 ประเทศในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพภายใต้กรอบความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation)

ภายในประเทศ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนได้ยกระดับการพัฒนาระบบเขตอนุรักษ์ธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ กำหนดเส้นแดงระบบนิเวศทั่วประเทศ ตลอดจนผลักดันให้มีการอนุรักษ์แบบบูรณาการและการฟื้นฟูอย่างเป็นระบบทั้งในส่วนของภูเขา แม่น้ำ ป่าไม้ พื้นที่เพาะปลูก ทะเลสาบ ทุ่งหญ้า และทะเลทราย

อุทยานแห่งชาติกลุ่มแรก ซึ่งรวมถึงอุทยานแห่งชาติป่าฝนเขตร้อนไห่หนานและอุทยานแห่งชาติแพนด้ายักษ์ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว และอีกหลายแห่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ นอกจากนี้ ประชาคมระหว่างประเทศยังยอมรับเส้นแดงระบบนิเวศว่าเป็นรูปแบบการอนุรักษ์ธรรมชาติที่เป็นนวัตกรรมใหม่ โดยเส้นแดงครอบคลุมพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการทำงานของสิ่งแวดล้อมหรือมีความอ่อนไหวทางนิเวศวิทยา เพื่อปกป้องสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์จำนวนมาก รวมถึงที่อยู่อาศัยของสัตว์เหล่านี้

ด้วยเหตุนี้ แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจึงขยายตัว และจำนวนประชากรสัตว์ป่าก็เพิ่มมากขึ้นในจีน จากรายงานสมุดปกขาวหัวข้อ "การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในจีน" ที่เผยแพร่โดยสำนักสารสนเทศของคณะมุขมนตรีจีนในปี 2564

ยกตัวอย่างเช่น จำนวนแพนด้ายักษ์ในป่าเพิ่มขึ้นจาก 1,114 ตัว เป็น 1,864 ตัว ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน จำนวนนกช้อนหอยหงอน (crested ibis) เพิ่มขึ้นจากเพียง 7 ตัว เป็นกว่า 5,000 ตัว และจำนวนชะนีไห่หนาน (Hainan gibbon) ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หายากที่สุดในโลกและใกล้สูญพันธุ์ที่สุดในบรรดาชะนีทุกชนิดในโลก ก็เพิ่มขึ้นจากไม่ถึง 10 ตัวในช่วงทศวรรษ 2520 เป็นอย่างน้อย 36 ตัวในปัจจุบัน

รายงานสมุดปกขาวระบุว่า จีนได้จัดตั้งเขตอนุรักษ์ธรรมชาติเกือบ 10,000 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนราว 18% ของพื้นที่ทั้งหมด

ในอนาคต จีนจะเพิ่มความหลากหลายและความยั่งยืนในระบบนิเวศต่อไป

https://news.cgtn.com/news/2022-12-16/China-injects-vitality-into-global-biodiversity-protection-1fN8y6sz2r6/index.html