ปัจจุบัน "สังคมพหุวัฒนธรรม" เป็นเรื่องที่ทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้และปรับตัวในความหลากหลาย โดยมีภาษาและวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ความแตกต่างกลายเป็นหนึ่งเดียว
รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย (RILCA) มหาวิทยาลัยมหิดล คือ หนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้ทุ่มเทเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ศึกษาวิจัยและส่งเสริมการใช้กลไกทางภาษาและวัฒนธรรมเพื่อความเสมอภาคในความหลากหลายของสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ขยายวงกว้างออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มแรงงานต่างชาติ
ย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา ที่เริ่มมีคลื่นประชากรแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง นับจากรุ่นแรกซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานทั่วไปที่พบมากในภาคการประมง และเกษตรกรรม ที่ใช้แรงงานเป็นหลัก
มาถึงรุ่นลูกหลาน พบว่าการประกอบวิชาชีพของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมีทิศทางเปลี่ยนไป โดยมุ่งสู่ภาคบริการที่ต้องใช้ทักษะการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสทางสังคม และการเข้าถึงสวัสดิการที่จำเป็นจากภาครัฐ ซึ่งรวมถึงด้านสุขภาพ การเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมไทยให้รู้จริงจึงกลายเป็นความจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต พัฒนาทักษะในการทำงาน และโอกาสในการจ้างงานที่หลากหลายมากขึ้น
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย (RILCA) มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้สร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม"MU Thai Test" เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางภาษาในกลุ่มชาวต่างชาติ ซึ่งรวมถึงกลุ่มแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย เพื่อใช้วัดประเมินความสามารถในการฟังพูด อ่าน และเขียนภาษาไทย
ในเบื้องต้น "MU Thai Test" ได้นำไปใช้ทดสอบกลุ่มผู้อพยพจากประเทศเมียนมาที่เป็นลูกหลานแรงงานที่เรียนในระดับประถมและแรงงานต่างชาติที่เรียนหลักสูตรนอกระบบของไทย (กศน.) ซึ่งการทดสอบได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักเรียนและแรงงานต่างชาติที่ต้องการทราบระดับความสามารถทางภาษาไทยของตนเอง เพื่อการพัฒนาทักษะทางภาษา และใช้ในการสมัครงาน รวมทั้งสถานศึกษาที่นำผลการทดสอบไปพัฒนาการเรียนการสอนภาษาให้กับแรงงานต่างชาติอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
"นวัตกรรมทางภาษาที่พัฒนาขึ้น ช่วยสนับสนุนนโยบายภาษาแห่งชาติ ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักดิ์ศรีของมนุษย์โดยไม่กีดกันด้านเชื้อชาติครอบคลุมไปถึงคนทุกกลุ่มในสังคมไทย รวมทั้งผู้ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยให้มีทักษะการใช้ภาษาไทย หรือเพื่อการสื่อสารในการดำรงชีวิต"
"นอกจากนี้ ยังตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ข้อที่ 3 ว่าด้วยการมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน และข้อที่ 10 ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากภาษาเป็นกุญแจสำคัญในการเข้าถึงบริการและสวัสดิการต่าง ๆ เป็นบันไดขั้นสำคัญที่ช่วยให้ก้าวสู่ความเท่าเทียม" รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์ กล่าว
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรพล วิบูลยศริน รองผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา บริการวิชาการ และสื่อสารองค์กร และอาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม สถาบัน RILCA มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวเพิ่มเติมในฐานะผู้พัฒนา(Developer) นวัตกรรม "MU Thai Test" ซึ่งใช้ในการทดสอบความสามารถในการใช้ภาษาไทยของกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นครั้งแรกว่า ถือเป็นโอกาสที่ทางสถาบันฯ จะได้นำองค์ความรู้อันเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมพหุวัฒนธรรม
โดยในเบื้องต้นได้พัฒนา "MU Thai Test" เพื่อใช้ทดสอบแบบ Paper-based หรือทดสอบ ณ สถานที่ตั้ง (Onsite) โดยพบว่าในการทดสอบส่วนของการฟัง ผู้เข้ารับการทดสอบที่เป็นกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นชินกับเสียงภาษาไทยที่หลากหลาย จึงส่งผลให้ยังไม่สามารถทำคะแนนได้ดีเท่าที่ควร ทีมวิจัยจึงได้นำfeedback ดังกล่าวมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น
และต่อไปจะได้ขยายประโยชน์สู่การทดสอบในแบบInternet-based ในลักษณะของการทดสอบบนระบบออนไลน์ โดยเตรียมหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาสู่การเป็น "ศูนย์ทดสอบภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ" ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับต่อไป
ไม่ว่าโลกในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด อย่าปล่อยให้ความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรมกลายเป็นจุดอ่อน และเป็นบ่อนทำลายความสมานฉันท์ของสังคม เพียงเปิดใจยอมรับและเปลี่ยนความต่างให้เป็นพลังบวก โลกทั้งใบก็จะกลายเป็นหนึ่งเดียว
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit