นายระพีภัทร จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะประธานเครือข่ายเสริมสร้างศักยภาพในการปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอาเซียน (ASEAN Climate Resilience Network: ASEAN-CRN) กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค เรื่อง Pathways to Net Zero for Agrifood and Land Use Systems in Asia: (Long-term Strategies, Carbon Neutrality, MRVs and Transparency, and the Carbon Market) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 ธันวาคม ๒๕๖๕ ณ ห้องบอลรูม ชั้น ๖ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ
การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก GIZ - ASEAN AgriTrade Project, FAO Regional Asia Pacific Office และ EU - ASEAN Dialogue Programme (EREADI) มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมการประชุมฯ จำนวน 100 ราย มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานทั่วทั้งภูมิภาคเพื่อพัฒนาและดำเนินการตามลำดับความสำคัญของการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions : NDC) และยุทธศาสตร์ระยะยาวของภาคการเกษตรและการใช้ประโยชน์ที่ดิน เสริมสร้างระบบความโปร่งใสในการติดตามและการรายงาน เพิ่มความพร้อมในการเข้าถึงการเงินผ่านการปฏิบัติตามกฎระเบียบและเพื่อขยายการดำเนินการในตลาดคาร์บอนโดยสมัครใจ ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐบาลและนำมาสู่การดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านการปล่อยมลพิษต่ำสำหรับระบบเกษตรกรรมและภาคป่าไม้ที่ยืดหยุ่น
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ตามที่มีการลงนามความร่วมมือ ระหว่าง กรมวิชาการเกษตร กับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้มีการสร้างและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และ ร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินโครงการใหม่ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้คือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมร่วมมือ ผลักดันและยื่นโครงการเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณจาก Green Climate Fund ซึ่งเป็นงบประมาณสนับสนุนจาก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) สำหรับโครงการวิจัยศึกษาพัฒนาการประเมินการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการประเมินคาร์บอนเครดิต ในพืชนำร่อง 4 ชนิด คือ ปาล์มน้ำมัน ยางพาราและ ข้าว บนพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตรกว่า 2,500 ไร่ นอกจากนี้ยังเตรียมประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน อาทิ บริษัทมิตรผล เพื่อเตรียมพัฒนาวิธีการและขั้นตอนการวัดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการรับรองคาร์บอนเครดิตทางการเกษตร นำร่องใน อ้อย
"กรมวิชาการเกษตร" มีเป้าหมายที่จะพัฒนาบุคลากรเพื่อให้สามารถเป็นผู้รับรองการตรวจประเมินโครงการ และรับรองการคำนวณคาร์บอนเครดิตด้านการเกษตร รวมถึงพัฒนาและนำพื้นที่ปลูกพืชที่มีครอบคลุมอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศของกรมวิชาการเกษตร ขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้ เพื่อเป็น "คาร์บอนเครดิต" ของหน่วยงาน และจากความร่วมมือของประเทศสมาชิก และการดำเนินการความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดจากหลายภาคส่วนด้านการเกษตร ในฐานะที่กรมวิชาการเกษตรเป็นประธาน ASEAN CRN ถึงเวลาแล้วที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้คำมั่นไว้ว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Neutrality) ในปี 2065 (พ.ศ. 2608)" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit