REDPAPER ชี้ดีมานด์คลังสินค้าสมัยใหม่โตด้วยแรงหนุนภาคอีคอมเมิร์ซ ผลักดันพื้นที่เช่าในประเทศไทยขยายอีก 1.7 ล้าน ตร.ม. ในปี 2568

20 Jun 2022

REDPAPER รายงานข้อมูลและเทรนด์ด้านอสังหาริมทรัพย์ สนับสนุนโดย บริษัท เฟรเซอร์พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ FPT ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล (JLL) ในการจัดทำรายงานฉบับที่สอง เรื่องแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมในประเทศไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน และเทรนด์สำคัญในอนาคต โดยได้ชี้ให้เห็นถึงดีมานด์สำหรับพื้นที่คลังสินค้าสมัยใหม่ในประเทศไทยที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ แม้ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกจะเผชิญกับความท้าทายจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบอย่างรุนแรงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่มีการใช้มาตรการโต้ตอบทั้งในเชิงนโยบายและภาษี

การเติบโตของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และ ภาคการผลิตเพื่ออุตสาหกรรม อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และ อาหารและเครื่องดื่ม เป็นปัจจัยสนับสนุนให้กลุ่มนักลงทุนบริษัทข้ามชาติ และผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ยุคใหม่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ส่งผลให้ความต้องการพื้นที่คลังสินค้าระดับพรีเมียมเติบโตมากถึง 42.1 % ในปี 2564 ซึ่งทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมต่างเร่งพัฒนาโครงการเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความได้เปรียบด้านการมีทำเลที่ตั้งในใจกลางอาเซียน ซึ่งเปรียบเสมือนประตูเชื่อมสู่ทุกภูมิภาคในทวีปเอเชีย อีกทั้งยังมีความพร้อมในด้านทรัพยากรและเครือข่ายธุรกิจ รวมถึงการมีแรงงานทักษะสูงจำนวนมาก การมีระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น อย่างครบครัน รวมถึงโครงข่ายคมนาคมทั้งทางถนน ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อการขนส่งและกระจายสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยสามารถตอบโจทย์ภาคธุรกิจโลจิสติกส์สมัยใหม่ได้ทุกด้าน

ในโอกาสนี้ REDPAPER ได้ขอความเห็นเพิ่มเติมจากบริษัท เฟรเซอร์พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ FPIT และ เจแอลแอล ในฐานะผู้มีความชำนาญในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม โดย คุณโสภณ ราชรักษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า "ในช่วงที่ผ่านมาตลาดคลังสินค้ามีการเติบโตสูงขึ้นอย่างมาก จากดีมานด์ของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซและผู้ประกอบการโลจิสติกส์ (3PL) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นอานิสงส์ให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และส่งผลให้ความต้องการคลังสินค้าเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการในปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญกับการบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความต้องการใช้บริการจากผู้ประกอบการโลจิสติกส์ (3PL) ที่มีความชำนาญงานด้านการจัดเก็บและบริหารสินค้า รวมถึงกิจกรรมการขนส่งและกระจายสินค้า เป็นต้น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจบริการคลังสินค้ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง"

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ขับเคลื่อนการเติบโตของทำเลศักยภาพหลายแห่งในประเทศไทย โดยการขยายตัวของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซและ 3PL ทำให้ภาคโลจิสติกส์ในจังหวัดสมุทรปราการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งซึ่งเป็นทำเลยุทธศาสตร์อยู่ใกล้กรุงเทพฯ สนามบินสุวรรณภูมิ ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง และฐานการผลิตที่สำคัญในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกต่อการดำเนินงานบริการจัดส่งสินค้าในช่วงสุดท้าย (Last-mile Delivery) รวมถึงการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศโดยทางน้ำและอากาศ

ในด้านของอีอีซี ซึ่งครอบคลุมจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง ซึ่งล้วนเป็นที่ตั้งสำคัญของแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และเป็นศูนย์กลางของภาคโลจิสติกส์ เพื่อการนำเข้าและส่งออก โดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึก ประกอบกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่ ทำให้ดึงดูดผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีความต้องการใช้พื้นที่โลจิสติกส์คลังสินค้าอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตของอุตสาหกรรมในพื้นที่

ทั้งนี้ จังหวัดในภาคกลางอย่าง จังหวัดอยุธยา ได้เริ่มกลับมาเป็นหนึ่งในทำเลยุทธศาสตร์ที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจโลจิสติกส์และการกระจายสินค้า สำหรับกลุ่มธุรกิจ อาหารและเครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่ม FMCG (Fast Moving Consumer Goods ) แม้จะเคยผ่านเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ แต่ปัจจุบันพื้นที่นี้ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้า เนื่องด้วยมีความเชื่อมั่นในมาตรฐานการพัฒนาโครงการและมาตรการป้องกันอุทกภัยที่ผู้พัฒนาโครงการโลจิสติกส์ พาร์ค และนิคมอุตสหากรรมในจังหวัดดังกล่าวได้พัฒนาและปรับปรุงเป็นอย่างดีแล้ว

นอกจากนี้ ทางยกระดับบางปะอิน-นครราชสีมาที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปีพ.ศ. 2566 ยังช่วยส่งเสริมดีมานด์คลังสินค้าที่ตั้งอยู่ในเส้นทางเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น เพราะผู้ประกอบการต่างเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการคมนาคมขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ

คุณเจเรมี โอซัลลิแวน ผู้อำนวยการ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา เจแอลแอล กล่าวว่า "ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยยังคงแสดงแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย JLL คาดการณ์ว่าด้วยมูลค่ายอดขายรวม (GMV) ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซทุกๆ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จะทำให้มีความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าเพิ่มขึ้น 120,000 ตารางเมตร ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวของตลาดคลังสินค้าระดับพรีเมียมเพิ่มเติมอีก 1.7 ล้านตารางเมตรในปีพ.ศ. 2568 บ่งชี้ถึงโอกาสครั้งสำคัญของนักลงทุนและผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์"

เพื่อติดตามรายงานข้อมูลเชิงลึก เทรนด์ และความเคลื่อนไหวตามข้อเท็จจริงในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ในประเทศ พร้อมบทความเชิงวิเคราะห์และความคิดเห็นจากผู้นำในตลาด สามารถติดตาม REDPAPER ได้ที่ redpaper.frasersproperty.co.th