ภายในงานสัมมนา Thailand 5G Summit 2022 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 16-17 มิถุนายน พ.ศ. 2565 บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร 5G ในประเทศไทยจากหลากหลายภาคอุตสาหกรรม เพื่อแสดงวิสัยทัศน์รวมถึงรายละเอียดความร่วมมือในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ภายในภาคอุตสาหกรรมสาธารณสุข ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และโปรเจ็คสมาร์ทซิตี้ของประเทศไทย โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานและการแข่งขันให้แก่ทุกภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย ร่วมผลักดันประเทศไทยในเส้นทางการก้าวขึ้นสู่ศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งอาเซียน
นายไซมอน หลิน ประธานกรรมการบริหารประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของหัวเว่ย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความสำคัญของ
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่อุตสาหกรรมในประเทศไทยว่า "5G ถือเป็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อดิจิทัลอันเป็นพื้นฐานสู่ความสำเร็จของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมไปถึงการพัฒนาของภาคสาธารณสุข ภาคการผลิต และคอนเซ็ปต์เรื่องเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ด้วยเช่นกัน ในฐานะที่หัวเว่ยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีไอซีทีและเป็นผู้พลิกโฉมสู่ความเป็นดิจิทัล เราจะเดินหน้าผลักดันนวัตกรรมอัจฉริยะ 5G ผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรของ 5G ตามพันธกิจการร่วมมือกันสร้างนวัตกรรม สนับสนุนการทำให้เกิดอีโคซิสเต็ม 5G แลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งรองรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในกลุ่มสตาร์ทอัพ เพื่อให้ทั้งภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ มีส่วนช่วยกันผลักกันเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย และเพื่อให้หัวเว่ยสามารถนำความอัจฉริยะมาสู่ทุกคน ทุกบ้าน ทุกองค์กร และสร้างประเทศไทยดิจิทัลที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างสมบูรณ์ มีความอัจฉริยะ และยั่งยืนไปพร้อมกัน"
โดย นพ. สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ขึ้นกล่าวสัมมนาภายในงานดังกล่าวถึงนโยบายด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคสาธารณสุขของประเทศไทยว่า "การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจรูปแบบเดิม ๆ และตอกย้ำให้เราเห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงมุ่งยกระดับภาคอุตสาหกรรมสาธารณสุขของประเทศไทย ด้วยศักยภาพของ 5G และการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรมไอซีทีอย่างหัวเว่ย รองรับจุดยืนการขึ้นเป็นดิจิทัลฮับแห่งอาเซียน"
ด้านตัวแทนจากภาคโรงพยาบาล รศ.นพ. วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ได้กล่าวว่า "ทางโรงพยาบาลศิริราชได้ทำโครงการ แนวทางในการขยายผล การใช้ disruptive เทคโนโลยี และ 5G เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ทำงานร่วมกับหัวเว่ยเพื่อพัฒนาโซลูชันอัจฉริยะ Hospital Operating Center (HOC) และนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์ใหม่ๆ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยที่สุด โดยทางศิริราชเชื่อว่า ความมุ่งมั่นในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของโรงพยาบาลจะเป็นต้นแบบให้แก่โรงพยาบาลรัฐแห่งอื่นในประเทศไทยต่อไป"
โดยก่อนหน้านี้ ทางโรงพยาบาลศิริราชได้ร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อดำเนิน "โครงการต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G และระบบปัญญาประดิษฐ์" ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของโรงพยาบาลด้วยการนำเทคโนโลยี 5G รวมทั้งคลาวด์ AI และเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการ เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาพยาบาล ช่วยให้คนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการบริการในโรงพยาบาลตติยภูมิชั้นสูงได้ ซึ่งหัวเว่ยมีความมุ่งมั่นในการร่วมพัฒนานวัตกรรมโซลูชันด้วยเทคโนโลยี 5G และคลาวด์ ในการเสริมศักยภาพให้แก่ภาคสาธารณสุขไทย และช่วยผลักดันโรงพยาบาลศิริราชให้เป็นต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะแห่งแรกของไทยที่มีมาตรฐานระดับโลกในอนาคต
อ.ดร. สุนทร หลั่นเจริญ หัวหน้าฝ่ายสารสนเทศของโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้กล่าวถึงบทบาทของเทคโนโลยี 5G ที่ช่วยพัฒนาการรักษาในกรณีฉุกเฉินให้มีความปลอดภัยมากขึ้นว่า "เทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง 5G เปรียบเสมือนตัวเร่งปฏิกิริยาที่จะผลักดันให้โรงพยาบาลต่างๆ ประยุกต์ใช้ในบริการตรวจคนไข้และการตรวจ CT ทางไกลมากขึ้น และยังจะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงบริการทางการแพทย์คุณภาพสูงอย่างเท่าเทียมกันยิ่งขึ้น เมื่อเราทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับพาร์ทเนอร์ในอีโคซิสเต็ม 5G อย่างหัวเว่ย เราเชื่อว่าเทคโนโลยี 5G จะสามารถผลักดันให้กระบวนการรักษาในกรณีฉุกเฉินมีความปลอดภัยมากขึ้นได้"
นอกจากนี้ นายวรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ยังได้กล่าวถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในโปรเจ็คสมาร์ทซิตี้ของประเทศไทยว่า "สมาร์ทซิตี้จะทำให้เมืองในประเทศไทยมีความปลอดภัยมากขึ้น การเกษตรกรรมจะพัฒนาขึ้น ผู้คนจะได้รับความสะดวกสบายในทุกที่ทุกเวลาเมื่อเรามีเมืองแบบสมาร์ทซิตี้จำนวนมากขึ้นในไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ เราพูดถึงเรื่องสมาร์ทซิตี้มานานกว่า 5 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม 5G ได้เข้ามาทลายทุกข้อจำกัดที่สมาร์ทซิตี้ต้องเผชิญและทำให้มันกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ เนื่องจากเทคโนโลยี 5G คือพื้นฐานสำคัญของสมาร์ทซิตี้ และทำให้เราสามารถเชื่อมต่อเซ็นเซอร์ทุกรูปแบบผ่าน 5G และใช้การประมวลผลอัจฉริยะสำหรับแอปพลิเคชันต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีคลาวด์"
ในด้านผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความพร้อมของโครงข่าย 5G ในประเทศไทยว่า ตั้งแต่ประเทศไทยได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการสำหรับให้บริการโครงข่ายบนเทคโนโลยี 5G ในปี พ.ศ. 2563 หัวเว่ยได้มีส่วนช่วยประเทศไทยในการวิจัยและพัฒนาโครงข่าย 5G ชั้นนำ ซึ่งจนถึงวันนี้ ประเทศไทยได้ร่วมพัฒนาโครงข่าย 5G รองรับผู้ใช้บริการไปแล้วมากกว่า 4.3 ล้านคน ซึ่งถือว่ามากกว่ายอดผู้ใช้ 5G โดยรวมจากประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนกว่า 2.5 เท่า
นอกจากนี้ นายจูเลียน กอร์แมน หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA APAC 5G Industry Community) ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าทางสมาคมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับผู้ให้บริการโซลูชัน 5G อย่างหัวเว่ย เพื่อเร่งการพัฒนาเทคโนโลยี 5G และผลักดันให้เกิดกรณีตัวอย่างการใช้งาน 5G เชิงพาณิชย์ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit