ธนาคารกรุงเทพ เชื่อมั่นเศรษฐกิจอาเซียนจะฟื้นตัวหลังโควิด-19 สู่การเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ย้ำระบบสาธารณูปโภคต้องดี ระบบจัดการน้ำต้องมีประสิทธิภาพ ชูบทบาทธนาคารเป็น "เพื่อนคู่คิด" ให้ลูกค้าและสังคม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมสนับสนุนโครงการบรรเทาปัญหาภัยธรรมชาติ ผลักดันโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เกษตรก้าวหน้า-สินเชื่อสีเขียว-กรีนบอนด์
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวในการบรรยายเรื่อง "ความมั่นคงของทรัพยากรน้ำและระบบเศรษฐกิจ และบทบาทของธนาคารเกี่ยวกับเรื่องน้ำ" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมนานาชาติการบริหารจัดการน้ำ (Water and Waste Management International Conference & Expo Thailand: Water for Life) โดยกล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลายตัวลง และทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มกลับสู่ภาวะปกติอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน จะสามารถฟื้นคืนกลับมาได้ใกล้เคียงหรือเติบโตได้ดีกว่าในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ทั้งยังมั่นใจว่าการฟื้นตัวครั้งนี้จะทำให้อาเซียนกลับมาเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เติบโตได้เร็วที่สุดในโลก ด้วยจำนวนประชากรกว่า 600 ล้านคน จึงเป็นทั้งแรงงานและตลาดการบริโภคขนาดใหญ่ รวมถึงการขยายตัวของเมืองที่สนับสนุนให้เกิดฐานการผลิตและห่วงโซ่อุปทานใหม่ ๆ จากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนน ทางรถไฟ และท่าเรือ ที่ช่วยเชื่อมต่อพื้นที่ต่าง ๆ เข้าด้วยกันก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโตนี้
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบสาธารณูปโภคที่ดีเข้ามาสนับสนุน โดยเฉพาะ "ระบบน้ำ" ที่มีประสิทธิภาพ เพียงพอ และเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง ทั้งพื้นที่การเกษตร อุตสาหกรรม และพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งประเด็นนี้นับเป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรทั่วอาเซียน ทั้งยังมีปัจจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้สถานการณ์การจัดการน้ำเริ่มวิกฤติมากขึ้น รวมถึงภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุ ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องร่วมมือกันทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต เนื่องจากภูมิภาคอาเซียนมีความเสี่ยงสูงทั้งในมิติด้านภูมิศาสตร์ และการพึ่งพาภาคการเกษตร
สำหรับธนาคารกรุงเทพ แม้จะเป็นธุรกิจสถาบันการเงิน จึงอาจจะไม่ได้อยู่ในภาคการผลิตโดยตรง แต่ด้วยวิถีการดำเนินธุรกิจนับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารในปี 2487 ธนาคารมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการเกษตรและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพราะธนาคารตระหนักดีว่า ภาคการผลิตเหล่านี้คือตัวขับเคลื่อนหลักสำหรับการพัฒนาการค้า ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ธนาคารกรุงเทพจึงเป็นธนาคารแห่งแรก ๆ ที่พัฒนาเครือข่ายสาขาและบริการระดับจังหวัดที่เข้มแข็ง เพื่อสนับสนุนความต้องการของลูกค้าในพื้นที่ด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ทั้งความท้าทายที่เกษตรกรเผชิญอยู่ ผลกระทบต่อความสามารถการผลิต การตลาดและการขายสินค้า เป็นต้น
"สำหรับธนาคาร ความร่วมมือกับท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญและลงลึกไปมากกว่าเพียงการเข้าไปทำธุรกิจ แต่เรามองถึงการเป็น "เพื่อนคู่คิด" ที่ลูกค้าหรือชุมชนนั้น ๆ เชื่อถือและไว้วางใจเราได้ เพื่อจะร่วมกันสร้างเศรษฐกิจและสังคม ที่มีความเท่าเทียมและเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน"
นอกจากการมีเครือข่ายบริการทางการเงินที่เข้าถึงและเข้าใจลูกค้าแล้ว นายกอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า ธนาคารกรุงเทพ ยังได้ร่วมสนับสนุนการบรรเทาปัญหาภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี โดยร่วมสนับสนุนมูลนิธิอุทกพัฒน์ เพื่อต่อสู้ภัยแล้งโดยช่วยเหลือชุมชนต่าง ๆ ใน 13 จังหวัด จัดหาน้ำกว่า 274,639 ลูกบาศก์เมตร ให้กับพื้นที่เกษตรกรรมมากกว่า 11,923 ไร่ หรือเท่ากับประชาชนราว 30,000 คน ในกว่า 10,000 ครัวเรือน ได้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี และปีนี้โครงการจะขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับอีก 6 ชุมชน ใน 6 จังหวัด คือ พิษณุโลก พิจิตร บึงกาฬ บุรีรัมย์ ตราด และชุมพร ตลอดจนการส่งเสริมให้ชุมชนมีแนวทางจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถแบ่งปันประสบการณ์ให้แก่ชุมชนอื่น ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการจัดการน้ำในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการต่อยอดออกไปเพื่อสนับสนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้นและเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นนโยบายการพัฒนาที่ธนาคารให้ความสำคัญมาก ทั้งการพัฒนาตลาดสำหรับผลิตผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่ไม่เพียงแต่สนับสนุนชุมชนเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของภาครัฐ หรือ Bio-Circular and Green Economy: BCG Economy) ใน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ การเกษตรและอาหาร การแพทย์และสุขภาพ พลังงานและวัสดุชีวภาพ และท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันยังมีโครงการความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) เพื่อคาดการณ์ความเสี่ยงเกี่ยวกับทรัพยากรและภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น และนำไปสู่แนวทางป้องกันเพื่อเตรียมพร้อมรับมือในอนาคต
นายกอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า กว่า 2 ทศวรรษแล้ว ที่ธนาคารกรุงเทพได้ริเริ่ม "โครงการเกษตรก้าวหน้า" เพื่อแนะนำลูกค้าในภาคเกษตรกรรมให้รู้จักและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสำหรับจัดการทรัพยากรได้ดียิ่งขึ้น เช่น น้ำและพลังงาน เช่นเดียวกับการให้บริการ "สินเชื่อสีเขียว" (Green Loans) เพื่อนำเงินทุนไปใช้พัฒนาและส่งเสริมสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการของเสียได้ดีขึ้น การอนุรักษ์น้ำ พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ รวมถึงธนาคารกรุงเทพยังเป็นธนาคารชั้นนำที่ออกกรีนบอนด์ (Green Bond) ในตลาดทุนของไทยมากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่ากรีนบอนด์ที่ออกในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ธนาคารยังร่วมสร้างสรรค์งานสัมมนา และการประชุมอบรมต่าง ๆ สำหรับลูกค้าธุรกิจและเอสเอ็มอี เพื่อช่วยให้พร้อมปรับตัวเข้ากับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงแนวทางการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
"ธนาคารกรุงเทพมีความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมเพื่อช่วยให้เกิดความมั่นคงและยังยืนในการจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของธนาคารที่ต้องการสนับสนุนให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่เพียงเฉพาะในประเทศไทย หากแต่ยังรวมถึงพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาค เช่นในอินโดนีเซียที่เรามีบริษัทย่อยคือ ธนาคารเพอร์มาตา นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือและทำงานอย่างใกล้ชิดกับ MIT รวมถึงมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ตลอดจนองค์กรภาครัฐเพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งยังแนะนำแบ่งปันความรู้เหล่านี้ให้กับลูกค้าและชุมชน ในฐานะ "เพื่อนคู่คิด" ของเราด้วยเช่นกัน" นายกอบศักดิ์ กล่าว
ในโอกาสนี้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนการจัดการประชุมนานาชาติการบริหารจัดการน้ำ (Water and Waste Management International Conference & Expo Thailand: Water for Life) จัดโดย "โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ" ที่และมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย ที่ ในวันที่ 15-17 มิถุนายน 2565 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit