บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC เป็นลบจากมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ SCC ที่ 'A+(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ 'F1(tha)'
นอกจากนี้ ฟิทช์ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศให้แก่โครงการหุ้นกู้ระยะกลาง (Medium-Term Note Program หรือ MTN) ที่จะมีการออกจำหน่ายของ SCC มูลค่ารวมไม่เกินสามแสนล้านบาท ที่ระดับ 'A+(tha)' โดยหุ้นกู้ที่จะออกจำหน่ายภายใต้โครงการ MTN ดังกล่าวเป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ โครงการได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCC เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิของ SCC
แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบของ SCC สะท้อนถึงความเสี่ยงจากอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ที่อยู่ในระดับสูงในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ฟิทช์คาดว่าแผนการใช้จ่ายลงทุนที่สูงของบริษัทในปี 2565 ในขณะที่กระแสเงินสดจากธุรกิจเคมิคอลส์อ่อนแอลง และธุรกิจต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA) คงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 3.5 เท่า ณ สิ้นปี 2566 ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันของบริษัทฯ
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ความไม่แน่นอนในการลดลงของอัตราส่วนหนี้สิน - ฟิทช์คาดว่า Net Debt/EBITDA ของ SCC จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.5-5.0 เท่า ณ สิ้นปี 2565 (ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 3.1 เท่า) ซึ่งเป็นผลมาจากแผนการใช้จ่ายลงทุนขนาดใหญ่ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 8.5 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนสำหรับโครงการ Long Son Petrochemicals (LSP) ในประเทศเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะเริ่มสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในปี 2566 ภาวะเงินเฟ้อสูงสร้างความไม่แน่นอนให้กับระยะเวลาที่บริษัทฯ จะสามารถลดอัตราส่วนหนี้สินให้ลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม การฟื้นตัวของธุรกิจหรือกระแสเงินสดที่ได้รับจากโครงการ LSP ที่ต่ำกว่าที่คาด รวมถึงค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูงกว่าที่คาดโดยที่ไม่มีการเพิ่มทุน อาจส่งผลกระทบทางลบต่ออันดับเครดิตได้
อัตราส่วนหนี้สินของ SCC อาจลดลงเร็วกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ได้ หากแผนการออกหุ้นเพิ่มทุนของธุรกิจเคมิคอลส์แล้วเสร็จตามที่คาดภายในสิ้นปี 2565 หรือต้นปี 2566 อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ไม่ได้รวมเงินที่อาจจะได้รับจากการ เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก เข้ามาในประมาณการ เนื่องจากการดำเนินการตามแผนดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดทุนที่มีความไม่แน่นอน และมีความเสี่ยงในการดำเนินการให้แล้วเสร็จ SCC มีแผนการลดสัดส่วนการถือหุ้นโดยการเพิ่มทุนผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก ของบริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ('A+(tha)',แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ซึ่งบริษัทฯ ได้มีการยื่นคำขอต่อสำนักงาน ก.ล.ต. แล้วเมื่อเดือนเมษายน 2565
กำไรที่ลดลง - ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ SCC จะลดลงมากกว่าที่เคยคาดไว้ จากภาวะกดดันทางด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจหลัก ฟิทช์คาดว่า EBITDA จะลดลงมาอยู่ในระดับ 6.0 หมื่นล้านบาท ในปี 2565 ก่อนที่จะฟื้นตัวมาอยู่ที่ระดับ 7.3 หมื่นล้านบาทในปี 2566 (ปี 2564 อยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านบาท) จากการคาดการณ์เดิมที่ 7.3 หมื่นล้านบาท และ 8.1 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ
ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งในส่วนของวัตถุดิบและพลังงาน รวมถึงข้อจำกัดในการขนส่งสินค้า น่าจะยังคงกดดันอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของ SCC ในช่วงไตรมาสที่เหลือของปี 2565 (คาดการณ์ EBITDA margin ของปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 10, ไตรมาส 1 ปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 9, ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 14) ฟิทช์เชื่อว่าความสามารถในการขึ้นราคาสินค้าตามภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากความต้องการซื้อสินค้าที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น และข้อจำกัดในการขนส่งสินค้าและห่วงโซ่อุปทานที่คลี่คลายลงในปี 2566
การกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้น - ฟิทช์คาดว่ารายได้จากนอกประเทศไทย ทั้งในส่วนของฐานการผลิตในต่างประเทศและการส่งออก จะสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่อโครงการ LSP เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2566 LSP เป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนาม ซึ่งจะรองรับการเติบโตของความต้องการโพลิเมอร์ภายในประเทศซึ่งในปัจจุบันยังคงพึ่งพาจากการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ SCC มีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ทั่วโลกนอกเหนือจากประเทศในกลุ่มอาเซียนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 19 ของรายได้รวมในปี 2564 ฟิทช์คาดว่าการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ นอกเวียดนามจะเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนการส่งออกไปเวียดนามในปัจจุบันที่จะถูกแทนที่ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศเวียดนามเองเมื่อโครงการ LSP เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์
สถานะความเป็นผู้นำตลาด - SCC มีสถานะเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจหลักของบริษัทฯ ได้แก่ กลุ่มสินค้าปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย (โพลีโอเลฟินส์และพีวีซี) และกระดาษบรรจุภัณฑ์ ในประเทศไทยและหลายประเทศในอาเซียน สถานะผู้นำตลาดในแต่ละผลิตภัณฑ์และประโยชน์ที่ได้รับจากการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงเฉพาะที่อาจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
SCC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) (SCCC, 'A(tha)'/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งอยู่ในธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเช่นเดียวกัน โดย SCC มีส่วนแบ่งทางการตลาดของปูนซีเมนต์ในประเทศที่สูงกว่า รวมถึงมีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และการกระจายความเสี่ยงของกระแสเงินสดจากหลากหลายธุรกิจกว่า อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งทางสถานะทางธุรกิจที่สูงกว่า ได้ถูกลดทอนจากอัตราส่วนหนี้สินของ SCC ที่สูงกว่า SCCC ทำให้ SCC มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า SCCC เพียงหนึ่งอันดับ
เมื่อเปรียบเทียบกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC, อันดับเครดิต 'AA+(tha)' แนวโน้มเครดิตเป็นลบ, อันดับเครดิตโดยลำพัง 'aa-(tha)') ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย SCC มีการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจอื่นที่หลากหลายกว่า ซึ่งทำให้ SCC มีความเสี่ยงต่อความผันผวนของธุรกิจเคมิคอลส์น้อยกว่า PTTGC มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า จึงมีสถานะเครดิตโดยลำพังที่สูงกว่าอันดับเครดิตชอง SCC หนึ่งอันดับ อย่างไรก็ตาม ทั้ง SCC และ PTTGC มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากแผนการใช้จ่ายลงทุนที่สูง แนวโน้มเครดิตเป็นลบของ SCC และ PTTGC สะท้อนถึงความเสี่ยงที่มีต่อความสามารถในการลดอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
ปัจจัยลบ:
สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่ดี: SCC มีหนี้สินที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้านับถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2566 จำนวน 1.0 แสนล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท เงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระประมาณ 5 พันล้านบาท และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 4.0 หมื่นล้านบาท สภาพคล่องของ SCC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและเงินลงทุนที่มีสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสด (ตามการปรับปรุงตัวเลขโดยฟิทช์) จำนวนประมาณ 8.1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานประมาณ 4.0-6.0 หมื่นล้านบาทต่อปี และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านตลาดตราสารหนี้ในประเทศ รวมถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
ฟิทช์คาดว่าสภาพคล่องของ SCC ในช่วงสองปีข้างหน้ายังต้องพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากภายนอก เนื่องจากแผนค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูง อย่างไรก็ตาม SCC ได้รับการสนับสนุนวงเงินกู้จากสถาบันการเงินสำหรับโครงการลงทุนหลักแล้ว โดย SCC มีวงเงินสินเชื่อระยะยาวจากสถาบันการเงิน ที่คงเหลือใช้ได้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 จำนวน 6.4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นวงเงินกู้สำหรับโครงการ LSP จำนวน 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 6.0 หมื่นล้านบาท)
ข้อมูลบริษัท
SCC เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มี EBITDA อยู่ที่ระดับ 7.5 หมื่นล้านบาทในปี 2564 SCC มีการกระจายความเสี่ยงในสามธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้ง โดย SCC มีกำลังการผลิตและส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในหลายประเทศในอาเซียน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit