ศูนย์ภาพวินิจฉัยและร่วมรักษาเพื่อปวงชน เปิดตัวเทคโนโลยี "MRIHIFU" รักษาผู้ป่วยโรค "Essential Tremor" โรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุรายแรก ณ ศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ ผู้ช่วยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และคณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ นำคณะผู้เชี่ยวชาญนำโดย Dr. Yamamoto Neurosurgeon จากประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ศูนย์ภาพวินิจฉัยและร่วมรักษาเพื่อปวงชน ดำเนินการให้การรักษาผู้ป่วยโรค Essential Tremor หรือโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุรายแรก ด้วยเทคโนโลยี MRI guided focus Ultrasound technique หรือ MRIHIFU เทคโนโลยีจากศูนย์ภาพวินิจฉัยและร่วมรักษาเพื่อปวงชน ณ ศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยผู้ป่วยเป็นชายอายุ 69 ปี มีอาการมือสั่นจนไม่สามารถหยิบแก้วน้ำ และเขียนหนังสือได้ มีผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ซึ่งหลังจากเข้ารับการรักษา ด้วย MRI guided focus Ultrasound technique ทำให้มือข้างซ้ายที่ได้รับการรักษาไม่มีอาการสั่น ผู้ป่วยสามารถวาดเส้นวงกลมและขีดเส้นตรง ลายเส้นมั่นคง ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างชัดเจน
สำหรับการนำเข้าเทคโนโลยี MRI guided focus Ultrasound technique หรือ MRIHIFU ของศูนย์ภาพวินิจฉัยและร่วมรักษาเพื่อปวงชนถือเป็นอีกหนึ่งวิทยาการแพทย์ขั้นสูงที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้ามาเพื่อให้การรักษา และวิจัยผู้ป่วยที่มีอาการสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ จนมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังการรักษา สนองพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงมีพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลในการยกระดับการแพทย์ไทยด้วยการนำเทคโนโลยีและวิทยาการขั้นสูงมาใช้เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
โรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ (Essential Tremor) และอาการสั่นบางชนิดของโรคพาร์กินสัน (Tremor Dominant Parkinson's Disease) เป็นอาการทางระบบประสาทที่ทำให้ไม่สามารถควบคุมอาการสั่นของอวัยวะต่างๆ เช่น มือ ศีรษะ และเสียง รวมถึงแขน ขา และลำตัวได้ ในระยะแรกอาการจะไม่รุนแรง แต่จากนั้นจะค่อยๆ พัฒนาขึ้น ในผู้ป่วยบางรายนั้นอาการสั่นจะมีความรุนแรงถึงขั้นที่ทนไม่ได้ เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทานอาหาร แต่งตัว และเขียนหนังสือ อีกทั้งยังจำกัดความเป็นอิสระในการใช้ชีวิต เมื่ออาการของโรคมีพัฒนาการขึ้น ท้ายที่สุดแล้วผู้ป่วยบางรายจะไม่สามารถหยิบจับช้อนส้อมทานอาหารหรือยกแก้วน้ำขึ้นดื่มเองได้ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยถือเป็นปัญหาสำคัญเนื่องจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันทั่วไปอย่างการทานอาหาร ดื่มน้ำ แต่งตัว และเขียนหนังสือจะกลายเป็นเรื่องยากไปโดยสิ้นเชิง
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ สามารถติดต่อนัดหมายได้ที่เบอร์ 0 2576 6229 เพื่อเข้ารับการปรึกษาได้ที่ คลินิกอายุรกรรมประสาทวิทยา อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit