จากกรณีที่กลุ่มคนขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่ให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชันได้เข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากคำสั่งของกรมการขนส่งทางบกที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการแกร็บไบค์ (วิน) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ล่าสุด แกร็บ ประเทศไทย ได้เข้าพบกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มคนขับที่ได้รับผลกระทบเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 เพื่อหารือถึงแนวทางในการรับมือและบรรเทาผลกระทบจากนโยบายการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์สาธารณะของกระทรวงคมนาคม
นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการบริหาร แกร็บ ประเทศไทย เผยว่า "ผลจากการหารือกับทุกภาคส่วน ทั้งกรมการขนส่งทางบก ตลอดจนตัวแทนกลุ่มคนขับ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเป็นไปในทิศทางบวก โดยบริษัทฯ ต้องขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รวมถึงอธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ที่ได้ทบทวนการพิจารณาการดำเนินนโยบายฯ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มคนขับที่ต้องสูญเสียรายได้กะทันหัน รวมถึงผู้ใช้บริการที่อาจได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากจำนวนคนขับที่ให้บริการ พร้อมกันนี้ ยังได้ผ่อนผันและขยายระยะเวลาการให้บริการแกร็บไบค์ (วิน) ออกไป จากเดิมที่อนุญาตให้คนขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลสามารถให้บริการได้ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 เท่านั้น"
"แกร็บพร้อมเป็นตัวกลางในการสนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยสามารถนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชันเพื่อสร้างรายได้ โดยเบื้องต้นบริษัทฯ จะร่วมประชาสัมพันธ์ พร้อมอำนวยความสะดวกในขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้กลุ่มพาร์ทเนอร์คนขับแกร็บไบค์ (วิน) ที่ต้องการให้บริการดังกล่าวสามารถลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ >> "ลงทะเบียน Rider ผู้ได้รับผลกระทบ" ได้ตามกรอบเวลาที่กรมการขนส่งทางบกประกาศไว้ (ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน ถึง 26 กรกฎาคม 2565) โดยในระหว่างนี้ บริษัทฯ ในฐานะหนึ่งในแพลตฟอร์มผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน จะยังคงเดินหน้าผลักดัน พร้อมให้ความร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบกและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่าบริการเรียกรถจักรยานยนต์ผ่านแอปพลิเคชันจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยยังคงตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการในยุคปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการสร้างอาชีพให้กับคนไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและสังคมโดยรวม"
"หลังจากผ่านขั้นตอนการรวบรวมรายชื่อส่งให้กับกรมการขนส่งทางบกแล้ว ยังมีกระบวนการอีกมากที่ทางกรมฯ จะต้องวางแนวทางรองรับ ทั้งนี้ บริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า แนวทางดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศไทยมีกรอบในการกำกับดูแลบริการรถจักรยานยนต์สาธารณะที่เหมาะสม ทันสมัย เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และสามารถดำเนินการได้ภายใต้กรอบระยะเวลาที่เหมาะสม" นายวรฉัตร กล่าวเสริม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit