PPP Plastics ขับเคลื่อนโรดแมปแก้ปัญหาขยะพลาสติก อวดผลงาน 5 โมเดลต้นแบบตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน

23 Jun 2022

"ขยะพลาสติก" เป็นหนึ่งในตัวการร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม มีการคาดการณ์ว่าหากไม่มีระบบบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีขยะพลาสติกเล็ดลอดสู่สิ่งแวดล้อมโลกมากถึง 700 ล้านตัน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งบนบก ทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงห่วงโซ่อาหารจากการปนเปื้อนไมโครพลาสติกซึ่งเป็นมลพิษจากขยะพลาสติก

PPP Plastics ขับเคลื่อนโรดแมปแก้ปัญหาขยะพลาสติก อวดผลงาน 5 โมเดลต้นแบบตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน(PPP Plastics) ภายใต้การนำขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และองค์กรภาคีเครือข่าย ได้จัดงานแถลงข่าว "ผลงานและบทบาท PPP Plastics ร่วมแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย" พร้อมเดินหน้าสานต่อและขับเคลื่อน Roadmap การจัดการขยะพลาสติกให้บรรลุเป้าหมายการลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยไม่ต่ำกว่า 50% ภายในปี 2570 บนพื้นฐานการจัดการขยะตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) รวมทั้งร่วมสนับสนุนการดำเนินงานตามวาระแห่งชาติ BCG Model ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ

  • PPP Plastics ก้าวสู่ปีที่ 5 กับภารกิจเดินหน้าแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในฐานะประธาน PPP Plastics กล่าวว่า ในปี 2565 PPP Plastics ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 กับพันธกิจที่ยิ่งใหญ่ในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทยทั้งระดับนโยบายและปฏิบัติ เริ่มจากการสร้างต้นแบบโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วตั้งแต่ต้นทางและครอบคลุมเรื่องระบบและนวัตกรรมที่จะช่วยนำพลาสติกเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ต่อยอดและขยายผล ผ่านโครงการนำร่องทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อสร้างต้นแบบการบริหารจัดการขยะให้กับชุมชนเมืองอื่น ๆ ทั่วประเทศ และจังหวัดระยองให้เป็นต้นแบบจังหวัดที่มีการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน การร่วมเป็นคณะทำงานพัฒนานโยบายและกฎหมาย รวมทั้งได้จัดทำฐานข้อมูลขยะพลาสติกของประเทศไทย ตามแนวคิด Material Flow Analysis เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำคัญทั้งในประเทศและและการนำเสนอในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ยังร่วมพัฒนาหลักสูตร Circular Economy สำหรับอุดมศึกษาในทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย และด้านนวัตกรรมภาคอุตสาหกรรมได้ดำเนินงานโครงการถนนพลาสติกรีไซเคิล เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการทำถนนของประเทศไทยที่แข็งแรง ตอบโจทย์การส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธีและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

นายวิรัช เกลียวปฏินนท์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า
ส.อ.ท. ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาพลาสติกและขยะในประเทศไทย ภายใต้นโยบาย "One FTI" ที่มีแนวทางในการขับเคลื่อนให้ 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ 74 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด เข้าสู่การพัฒนาธุรกิจด้วยรูปแบบ BCG Model มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ยังดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับ BCG Model โดยเฉพาะโครงการเพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการขยะให้ครบวงจรที่สอดคล้องกับทิศทางเทคโนโลยีในอนาคตอีกหลายโครงการ รวมถึงผนึกกำลังร่วมกับ PPP Plastics เพื่อขับเคลื่อนการจัดการแก้ไขปัญหาพลาสติกและขยะที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน

ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ปี 2564 ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้น 2.76 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์เพียง 20% ส่วนที่เหลืออีก 77% ถูกทิ้งรวมเพื่อนำไปกำจัดกับขยะทั่วไป และ 3% ไม่ได้รับการจัดการทำให้ตกค้างในสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในทะเล ปัจจุบันขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวในการแก้ไขปัญหา โดยประเทศไทยมี Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (2561-2573) และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (2563-2565) เป็นทิศทางขับเคลื่อนการดำเนินงานแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตั้งแต่การผลิต การจำหน่าย การบริโภค และการจัดการ ณ ปลายทาง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกทั้งทางบกและทะเลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเป้าหมายสูงสุด คือ "ขยะ" ต้องไม่ใช่ "ขยะ" เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกเล็ดลอดสู่ธรรมชาติ มุ่งเน้นจัดการ ณ ต้นทาง สร้างมูลค่าในห่วงโซ่การจัดการพลาสติก และประชาชนต้องให้ความร่วมมือเริ่มต้นที่ใช้ให้น้อยที่สุด ทิ้งให้ถูกที่ กำจัดอย่างถูกวิธี คัดแยก และนำไปใช้ประโยชน์ในได้มากที่สุด

  • โชว์ 5 ต้นแบบโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนกับการแก้ปัญหาขยะพลาสติก

ภายในงานได้มีการเสวนา "ต้นแบบโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนกับการไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย" ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลจากกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ภายใต้ PPP Plastics ที่ร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก โดย นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้รับผิดชอบโครงการปทุมวัน กล่าวว่า โครงการพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน โดยเล็งเห็นศักยภาพของพื้นที่เขตปทุมวัน ด้วยการดำเนินโครงการ Siam Pieces ร่วมกับบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาแบบแผนธุรกิจในการนำพลาสติกใช้แล้วทุกชนิดกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างโมเดลการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน

นายคงศักดิ์ ดอกบัว ผู้รับผิดชอบโครงการคลองเตย กล่าวว่า โครงการ Eco-Digiclean Klongtoei ได้รับการสนับสนุนจาก Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้าง Business Model เพื่อพัฒนาระบบการจัดเก็บและคุณภาพของขยะด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยในการพัฒนาโครงสร้างการบริหารจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง เช่น การสร้าง Application เพื่อช่วยในการบริหารจัดการขยะ การพัฒนาถังขยะรูปแบบใหม่กึ่งอัตโนมัติเพื่อช่วยคัดแยกขยะประเภทพลาสติกและเพิ่มมูลค่าของขยะพลาสติก รวมทั้งส่งเสริมหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่เขตคลองเตย

นางสมจิตต์ นิลถนอม ผู้รับผิดชอบโครงการระยอง กล่าวว่า Rayong Less-Waste เป็นโครงการที่ต่อยอดความสำเร็จโมเดลการจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืนในระดับชุมชนและการให้ความรู้ในโรงเรียน ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ครอบคลุมครบทั้งจังหวัดระยอง โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ช่วยผลักดันและยกระดับให้จังหวัดระยองเป็นต้นแบบการจัดการขยะที่ยั่งยืน ปัจจุบันโครงการมีการจัดทำ MOU ร่วมกับเทศบาลไปแล้วกว่า 35 อปท. และมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการกว่า 228 โรงเรียน โดยมีการดำเนินงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำรายงานปริมาณพลาสติกและขยะที่คัดแยกได้ของแต่ละเทศบาลอย่างเป็นระบบและกำลังขยายผลไปสู่โรงเรียนตามลำดับ

ทางด้าน ดร.อรทัย พงศ์รักธรรม ผู้รับผิดชอบโครงการมือวิเศษ x วน กล่าวว่า โครงการมือวิเศษ x วน เป็นโครงการที่ดำเนินการรวบรวมถุงและบรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกที่สะอาด แห้ง และยืดได้ จำนวน 12 ชนิด โดยมีจุด Drop Point รวมกว่า 300 จุด ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จังหวัดระยองและชลบุรี เพื่อรวบรวมพลาสติกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเริ่มโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2563 ได้รับปริมาณเศษพลาสติกที่เก็บรวบรวมได้ 27,037 กิโลกรัม สามารถช่วยลดภาวะโลกร้อน คำนวณลด CO2 Emission ได้ 24,000 กิโลกรัม (ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565) รวมถึงรายได้จากการรีไซเคิลพลาสติกสะอาด 136,400 บาท และมอบให้ "ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร" จังหวัดภูเก็ต

ปิดท้ายที่ นายประวิทย์ พรพิพัฒน์กุล ผู้รับผิดชอบโครงการถนนพลาสติกรีไซเคิล กล่าวว่า โครงการถนนพลาสติกรีไซเคิลได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการทำวิจัย ภายใต้ชื่อโครงการ Recycled Plastics in Roads Study ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่าการใช้เศษพลาสติกในสัดส่วนที่กำหนด เคลือบที่ผิวของกรวดก่อนที่จะผสมกับยางมะตอยในการทำถนน Asphalt Concrete ช่วยให้ถนนมีความแข็งแรงกว่าเดิม โดยไม่เกิดปัญหาการปลดปล่อยไมโครพลาสติกออกสู่สิ่งแวดล้อม และสามารถนำเศษของวัสดุหลังจากรื้อถนนเมื่อใช้งานไปแล้วกลับมาวนใช้สร้างถนนใหม่ในสัดส่วนประมาณ 10% ถือเป็นการนำพลาสติกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสร้างถนนของประเทศไทยในอนาคต

เมื่อเรา "ปฏิเสธ" พลาสติกไม่ได้ ก็ต้องใช้ให้ "คุ้มค่า"! ปัญหาขยะพลาสติกเป็นความ "ท้าทาย" ที่ทุกภาคส่วนต้องรวมพลังกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ ผลักดันให้ประเทศไทยเกิดความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคนในสังคม

HTML::image(