ผลการวิจัยใหม่ ซึ่งนำเสนอในการประชุมประจำปีครั้งที่ 54 ของสมาคมกุมารเวชศาสตร์ระบบทางเดินอาหาร ตับ และโภชนาการแห่งยุโรป (ESPGHAN) พบว่า การให้ทารกและเด็กอ่อนฝึกรับประทานอาหารสไตล์นอร์ดิกที่มีโปรตีนต่ำโดยเน้นที่อาหารจากพืชมากขึ้น อาจเป็นกุญแจสำคัญสู่การสร้างพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
ทารกอายุตั้งแต่ 4-6 เดือนที่รับประทานผลไม้ เบอร์รี่ พืชหัว และผักสไตล์นอร์ดิก ตลอดจนนมมารดาหรือนมสูตร รับประทานผักเป็นจำนวนเกือบเท่าตัว (มากกว่า 46%) เมื่อเทียบกับทารกที่รับประทานอาหารสูตรปกติเมื่ออายุครบ 18 เดือน
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอูเมอา ประเทศสวีเดน ศูนย์ระบาดวิทยาสตอกโฮล์ม และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการติดตามทารกสองกลุ่มตั้งแต่อายุ 4-6 เดือนจนครบ 18 เดือน ในการทดลองโอทิส ( OTIS) โดยมีทารกเข้าร่วมทั้งหมด 250 คน และ 82% เสร็จสิ้นการทดลองเป็นที่เรียบร้อย
จากการทดลองพบว่า ทารกที่ได้รับอาหารนอร์ดิกสูตรใหม่ ประกอบด้วยอาหารสำหรับทารกแบบทำเองสไตล์นอร์ดิก ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกแบบลดโปรตีน และได้รับการสนับสนุนทางการเลี้ยงดูผ่านโซเชียลมีเดีย ทานผักและผลไม้เพิ่มขึ้น 42-45% ในช่วงอายุ 12-18 เดือน เมื่อเทียบกับทารกที่ได้รับอาหารตามสูตรปกติที่สำนักงานอาหารแห่งสวีเดนแนะนำในปัจจุบัน
ดร. อุลริกา โจแฮนส์สัน ( Ulrica Johansson) หัวหน้าทีมวิจัย แพทย์ด้านกุมารเวชศาสตร์และนักโภชนาการแห่งมหาวิทยาลัยอูเมอา ประเทศสวีเดน ให้ความเห็นว่า "อาหารสไตล์นอร์ดิกที่ลดปริมาณโปรตีนลงทำให้ทารกคุ้นชินกับการรับประทานรูปแบบนี้ ส่งผลให้รับประทานผลไม้ เบอร์รี่ ผัก และพืชหัวมากขึ้น สร้างรูปแบบการรับประทานที่พึงประสงค์ยาวนานกว่า 12 เดือน"
"อาหารนอร์ดิกที่ลดปริมาณโปรตีนลงมีความปลอดภัย ทำได้ง่าย และอาจนำไปสู่รูปแบบการรับประทานอาหารที่ยั่งยืนและดีต่อสุขภาพในช่วงวัยทารกและวัยเด็ก" เธอกล่าวเสริม
การวิจัยใหม่นี้ปูทางไปสู่การขยายขอบเขตการบริโภคในทารกได้ และอาจมอบกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการปลูกฝังนิสัยการรับประทานที่ดีต่อสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อย
อาหารสไตล์นอร์ดิกทำให้ทานผลไม้ เบอร์รี่ ผัก สมุนไพร เห็ด พืชหัว และพืชตระกูลถั่วที่ปลูกในภูมิภาคและตามฤดูกาลได้มากขึ้น รวมถึงธัญพืช ไขมันพืชและน้ำมันพืช ปลาและไข่ ลดการบริโภคของหวาน ผลิตภัณฑ์นม และเนื้อสัตว์
ติดต่อขอสัมภาษณ์ เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือขออ้างอิงข้อมูลได้ที่: [email protected] หรือโทร : +44 208 154 6396
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit