"อู่หลง" แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติของฉงชิ่ง ตั้งเป้าเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก

01 Jul 2022

กรมประชาสัมพันธ์เขตอู่หลง เทศบาลนครฉงชิ่ง เปิดเผยว่า เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากคุณค่าในฐานะแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ และสร้างสะพานที่จะนำพาอู่หลงให้เป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลกมากขึ้น การประชุมเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 15 ปีของการประกาศให้อู่หลง คาร์สต์ (Wulong Karst) จัดเข้าเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จึงได้เปิดฉากขึ้นในเขตอู่หลง นครฉงชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การกำหนดมาตรการปกป้องธรรมชาติอย่างเข้มงวด การสืบทอด และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากแหล่งมรดกโลกอันล้ำค่านี้

อู่หลง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตอนล่างของแม่น้ำหวู่เจียงทางตะวันออกเฉียงใต้ของฉงชิ่ง มีการคมนาคมที่สะดวกสบาย เดินทางมาถึงได้ทั้งทางถนน ทางรถไฟ ทางน้ำ และสนามบินพลเรือน

ในปี 2537 ซึ่งเป็นปีที่ถ้ำฟู่หรงได้เปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยมเยือนเป็นครั้งแรก การท่องเที่ยวของอู่หลงก็ได้เริ่มเฟื่องฟูขึ้น ต่อมาในปี 2550 อู่หลง คาร์สต์ ได้ก้าวขึ้นเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของฉงชิ่ง ส่วนในปี 2558 นั้น องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ยกย่องให้เป็นเมืองต้นแบบด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในปี 2551 อู่หลงเริ่มต้นความพยายามครั้งที่สองในการก้าวขึ้นเป็นผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายหลักคือการเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวและเสริมสร้างเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวให้แข็งแกร่ง ปัจจุบัน เขตอู่หลงเป็นทั้งมรดกโลกทางธรรมชาติ รีสอร์ตท่องเที่ยวแห่งชาติ และสถานที่ท่องเที่ยวระดับชาติชั้น 5A ท่ามกลางสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามมากมายของจีน

เจ้าหน้าที่อาวุโสของเขตอู่หลง กล่าวว่า "อู่หลงยังคงยึดมั่นในการใช้ประโยชน์จากมรดกทางธรรมชาติเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงและใช้ประโยชน์จากคุณค่าของมรดกทางธรรมชาติเพื่อนำมายกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน"

ในปี 2564 มีผู้ที่สนใจมาเยี่ยมชมความงามของอู่หลงมากถึง 40.7 ล้านครั้ง หรือมากกว่าปี 2551 ถึง 20 เท่า ในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวโดยรวมอยู่ที่ 1.973 หมื่นล้านหยวน หรือมากกว่าปี 2551 ถึง 19.6 เท่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอู่หลงได้สร้างผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศ เกิดเป็นวัฏจักรหมุนเวียนที่ดีซึ่งมาพร้อมกับการปกป้องมรดกทางธรรมชาติ

หยวน เต่าเซียน (Yuan Daoxian) นักวิชาการจากสถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) กล่าวว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา อู่หลงมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมาก โดยประสบความสำเร็จทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอย่างน่าประทับใจ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผลมาจากการที่อู่หลงก้าวขึ้นมาอยู่ในทำเนียบรายชื่อแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติได้สำเร็จ ประกอบกับความพยายามของอู่หลงที่มุ่งปกป้องและจัดการมรดกทางธรรมชาติในพื้นที่แห่งนี้

ด้วยการกำหนดขั้นและการให้ความสำคัญกับดีมานด์ด้านการอุปโภคบริโภคเพื่อการท่องเที่ยว ประกอบกับความเชี่ยวชาญและความรอบรู้ในด้านโมเดลพัฒนาการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้านและครอบคลุม เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เขตอู่หลงได้เปิดตัวความพยายามครั้งที่สามในการพัฒนาการท่องเที่ยวในท้องถิ่น ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสร้างชื่อเสียงในระดับโลก โดยรัฐบาลท้องถิ่นได้ตัดสินใจที่จะเร่งพัฒนาอู่หลงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในระดับสากล และเป็นพื้นที่สาธิตนวัตกรรมการพัฒนาสีเขียว

อู่หลงได้พัฒนาแผนที่จะช่วยให้การท่องเที่ยวในท้องถิ่นก้าวไปสู่ระดับโลก ด้วยโครงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 165 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนสูงถึง 1.406 แสนล้านหยวน แผนดังกล่าวเสนอให้สร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรม 6 ด้าน อันได้แก่การวิจัย กีฬา ศิลปะ การดูแลสุขภาพ การแต่งงาน และบริการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งเสริมการบูรณาการการท่องเที่ยวเข้ากับภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การก่อสร้าง และบริการที่ทันสมัย

โครงการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวล่าสุดไม่เพียงแต่พยายามเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของการท่องเที่ยว เพื่อใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนบรรลุความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ตั้งแต่เริ่มดำเนินการมา โครงการดังกล่าวก็บรรลุผลสำเร็จอย่างเด่นชัด โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคมของปีนี้ อู่หลงมีผู้มาเที่ยวชมแล้วถึง 14.85 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 11.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี และรายได้จากการท่องเที่ยวโดยรวมอยู่ที่ 6.53 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 12.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี

นับตั้งแต่ประสบความสำเร็จจากการก้าวขึ้นเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ อู่หลงได้สานต่อความพยายามที่จะทำให้มรดกทางธรรมชาติแห่งนี้มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลก โดยถ้ำฟู่หรงได้ทำข้อตกลงเป็นอุทยานพี่อุทยานน้องกับถ้ำแมมมอธในสหรัฐอเมริกาและถ้ำคลามูสในฝรั่งเศส ส่วนอุทยานเทียนหนี่ซัน (Fairy Mountain) เซ็นสัญญากับยอดเขายุงเฟราของสวิตเซอร์แลนด์ อีกทั้งยังประสบความสำเร็จในการจัดประชุมวิชาการทั้งในระดับนานาชาติและในประเทศ อาทิ การประชุมวิชาการถ้ำแห่งชาติครั้งที่ 14 ขณะเดียวกัน อู่หลงยังได้สานต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือกับอีก 6 เมืองและภูมิภาค รวมถึงกรินเดิลวัลท์ของสวิตเซอร์แลนด์และซูเบียโกของอิตาลี พร้อมทั้งได้ขยายขอบเขตการเป็นพันธมิตรกับเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก โดยปัจจุบัน ความนิยมและอิทธิพลของแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติอย่างอู่หลง คาร์สต์ กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: กรมประชาสัมพันธ์เขตอู่หลง เทศบาลนครฉงชิ่ง