ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ เปิดงาน "มหกรรมผลไม้และของดีป่าละอู" ของดีประจวบฯ

12 Jul 2022

รมว.เกษตรฯ เปิดงาน "มหกรรมผลไม้และของดีป่าละอู" ชู 'ทุเรียนป่าละอู' ของดีประจวบฯ หนุนเกษตรกรปลูกสร้างรายได้ เน้นย้ำรักษาคุณภาพ เพื่อการส่งออกทั่วโลก

 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ เปิดงาน "มหกรรมผลไม้และของดีป่าละอู" ของดีประจวบฯ

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดโครงการ "มหกรรมผลไม้และของดีป่าละอู" ประจำปี 2565 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 - 17 กรกฎาคม 2565 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และพันธุ์ชะนี ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากผู้บริโภค มีเนื้อแห้งเนียนละเอียด กลิ่นอ่อน รสชาติหวาน มัน เมล็ดลีบเล็ก ทำให้เนื้อทุเรียนหนา และที่สำคัญยังได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มาตั้งแต่ ปี 2554 มีผลผลิตในช่วงเดือน พฤษภาคม - สิงหาคม

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการส่งเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการผลิตทุเรียนพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในลักษณะของกลุ่มแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกร ในส่วนของการยกระดับมาตรฐานสินค้าทุเรียน มีการส่งเสริมควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียน ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) จำนวน 390 ราย รวมพื้นที่ 2,502.40 ไร่ นอกจากนี้ยังได้รับมาตรฐานอินทรีย์ และได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI โดยเป็นทุเรียนป่าละอู จำนวน 83 ราย สำหรับทุเรียนในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ปลูก ณ เดือนพฤษภาคม 2565 จำนวน 14,782.25 ไร่ ให้ผลแล้ว 8,109 ไร่ คิดเป็น 54.85 % ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด ปริมาณผลผลิต 7,118.44 ตัน ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หมอนทอง และพันธุ์อื่นๆ เช่น พันธุ์ชะนี ก้านยาว พวงมณี

"พื้นที่การปลูกทุเรียน ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์มีจำนวนมาก แต่ปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคของคนไทย จึงทำให้ออกสู่ผู้บริโภคได้น้อย ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมการปลูกให้มากขึ้น เพื่อให้คนได้รู้จักทุเรียนป่าละอู พร้อมทั้งยึดหลักตลาดนำการผลิต สร้างรายได้ให้เกษตรกร อีกทั้ง ขอฝากพี่น้องผู้ปลูกทุเรียนทั่วประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาสินค้าให้มีคุณภาพ เพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าทางการเกษตรได้ทั่วโลก เป้าหมายเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก และขอความร่วมมือไม่ตัดหรือรับซื้อทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) หากพบจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด " รมว.เกษตรฯ กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้รณรงค์ให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมาย "Q" ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกรับรองให้กับสินค้าที่ผลิตตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรนำไปใช้แสดงกับสินค้าเกษตรที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองว่าเป็นไปตามมาตรฐาน มีความปลอดภัย และมีคุณภาพเทียบเท่า มาตรฐานสากล โดยในปี 2565 กระทรวงเกษตรฯ โดย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้พัฒนาระบบการตามสอบสินค้าเกษตร บนระบบคลาวด์สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (QR Trace on Cloud) และเข้าไปส่งเสริมการใช้ระบบดังกล่าวให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนป่าละอู จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีการผลิตสินค้าทุเรียนที่ได้การรับรองมาตรฐานการ GAP และได้รับเครื่องหมาย GI

โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบพันธุ์กล้าไม้ทุเรียนให้กับตัวแทนผู้ใหญ่บ้าน มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ (ส.ป.ก. 4-01) ให้แก่เกษตรกร มอบใบประกาศนียบัตร QR Traces ให้กับเกษตรกรต้นแบบจำนวน 15 ราย พร้อมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการ และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรภายในงาน

HTML::image(