การพัฒนาล่าสุดในกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหิตวิทยาและเวชบำบัดวิกฤตของอ็อคตาฟาร์มา (Octapharma) จะได้รับการนำเสนอในการประชุมสมาคมนานาชาติว่าด้วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันและกลไกการห้ามเลือด (International Society on Thrombosis and Haemostasis (ISTH) Congress) ครั้งที่ 30 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-13 กรกฎาคม 2565 ที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร ข้อมูลการวิจัยจะถูกนำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ 11 แผ่น และในการประชุมวิชาการย่อย (Supported Symposia) 2 กลุ่ม ที่การประชุม ISTH 2022 ซึ่งอ็อคตาฟาร์มาภาคภูมิใจที่ได้เป็นผู้สนับสนุนระดับทอง (Gold Supporter) ของงานประชุมระดับนานาชาติรายการนี้
การนำเสนอผลงานวิจัยแบบโปสเตอร์ที่งานนี้จะประกอบด้วยการนำเสนอข้อมูลจากโครงการทดลองยา Nuwiq(R) ทางคลินิก ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์ผลรวมของข้อมูลระยะยาวจากการทดลองทางคลินิก และการนำเสนอผลการศึกษายา Nuwiq เป็นครั้งแรก โดยเป็นข้อมูลที่ได้จากการดำเนินโครงการ GENA-99 ระดับโลกในการปฏิบัติทางคลินิกจริง การศึกษาเหล่านี้ยืนยันถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่ได้รับการพิสูจน์แล้วของ Nuwiq(R) ในการรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย เอ นอกจากนี้ ผลการศึกษาความปลอดภัยและการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายจากการศึกษาทดลองยา OCTA101 ในระยะ I/II จะได้รับการนำเสนอที่งานนี้ด้วยเช่นกัน OCTA101 เป็นโปรตีนแฟกเตอร์ VIII สายผสม (recombinant FVIII) ที่พัฒนาขึ้นสำหรับการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง โดยเมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งมีการตัดสินใจที่จะยุติการศึกษาเนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัย ขณะที่ข้อมูลอัปเดตจากโครงการพัฒนา Octaplex(R) ซึ่งเป็นยากลุ่ม four-factor prothrombin complex concentrate (4F-PCC) และ Atenativ(R) ซึ่งเป็นแอนติทรอมบิน III เข้มข้น ชนิดแห้ง เชื้อตายและมีความบริสุทธิ์สูง จะได้รับการนำเสนอด้วยเช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของอ็อคตาฟาร์มาที่มีต่อการวิจัยและพัฒนาทางคลินิกในสาขาเวชบำบัดวิกฤต
การนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์จะมีขึ้นตามวันและเวลาดังนี้
วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม เวลา 18.30-19.30 น.
วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม เวลา 18.30-19.30 น.
"เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะได้แบ่งปันข้อมูลใหม่และความคืบหน้าของเราที่งาน ISTH" โอลาฟ วอลเตอร์ (Olaf Walter) สมาชิกคณะกรรมการของอ็อคตาฟาร์มา กล่าว "แม้ว่ามีความก้าวหน้า แต่การจัดการภาวะเลือดออกฉุกเฉินและภาวะเลือดออกผิดปกติยังคงเต็มไปด้วยความท้าทาย เราจึงพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะจัดการกับความท้าทายเหล่านี้โดยตรง และลดภาระของผู้ป่วยเพื่อปรับปรุงชีวิตประจำวันของพวกเขาให้ดีขึ้น"
นอกจากการนำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ดังที่กล่าวมาแล้ว จะมีการนำเสนอข้อมูลใหม่ในการประชุมวิชาการย่อย 2 กลุ่ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ 'อันเดอร์ เดอะ สปอตไลต์' (Under the Spotlight) ของอ็อคตาฟาร์มา
การประชุมจะเน้นไปที่ข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ ทั้งทางคลินิกและทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการใช้ Nuwiq(R) เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย เอ การประชุมประกอบด้วยหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ การใช้การเปรียบเทียบทางอ้อมแบบ matching-adjusted เพื่อประเมินผลกระทบทางคลินิกที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคเฉพาะบุคคลด้วยผลิตภัณฑ์ FVIII ที่แตกต่างกัน และการใช้การรักษาแบบผสมผสานเพื่อควบคุมภาวะเลือดออกในผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย เอ ที่ได้รับการผ่าตัดใหญ่ นอกจากนี้ ยังนำเสนอข้อมูลใหม่ที่ได้จากการศึกษาในหลอดทดลองเกี่ยวกับการจับ FVIII กับเกล็ดเลือด และการใช้วิธีการจัดลำดับ RNA แบบใหม่ เพื่อช่วยทำนายความเสี่ยงสำหรับการพัฒนายายับยั้งในเด็กที่รับการรักษาด้วย FVIII เป็นครั้งแรก
ผู้หญิงที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติต้องเผชิญกับความท้าทายที่ต่างออกไป หลายคนไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการวินิจฉัยช้า ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเลือดออกและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ในระหว่างการประชุมวิชาการเพื่อนำเสนอผลงานวิจัย คณะผู้อภิปรายจะอภิปรายเกี่ยวกับความท้าทายที่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรควอนวิลลิแบรนด์และฮีโมฟีเลีย เอ ต้องเผชิญ ผู้บรรยายจะเน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มความตระหนัก และความจำเป็นของการมีข้อมูลทางคลินิกเกี่ยวกับผู้หญิงโดยเฉพาะ ตลอดจนแนวทางการรักษาเพื่อให้แพทย์มีข้อมูลสำหรับใช้ในการตัดสินใจรักษาผู้ป่วยหญิงที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอการศึกษา wilate(R) และ Nuwiq(R) ทั้งการศึกษาใหม่และการศึกษาต่อเนื่องที่ดำเนินอยู่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงการจัดการผู้ป่วยหญิงที่เป็นโรควอนวิลลิแบรนด์หรือฮีโมฟีเลีย เอ
"เรามุ่งหวังที่จะสานต่อความพยายามของเราในการสร้างความตระหนัก และปรับปรุงการดูแลผู้หญิงที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยเหล่านี้สามารถรับการจัดการอาการได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ" คุณลาริซา เบลยานสกายา (Larisa Belyanskaya) หัวหน้าฝ่ายโลหิตวิทยาของอ็อคตาฟาร์มา กล่าว
เกี่ยวกับอ็อคตาฟาร์มา อ็อคตาฟาร์มา (Octapharma) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองลาเคิน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นหนึ่งในผู้ผลิตผลิตภัณฑ์โปรตีนมนุษย์รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยเป็นผู้พัฒนาและผลิตโปรตีนมนุษย์จากพลาสมาและเซลล์ไลน์ของมนุษย์
อ็อคตาฟาร์มามีพนักงานประมาณ 10,000 คนทั่วโลก เพื่อสนับสนุนการรักษาผู้ป่วยใน 118 ประเทศ ด้วยผลิตภัณฑ์ครอบคลุมการรักษา 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ภูมิคุ้มกันบำบัด โลหิตวิทยา และการดูแลขั้นวิกฤติ
อ็อคตาฟาร์มามีศูนย์วิจัยและพัฒนา 7 แห่ง และมีโรงงานผลิตล้ำสมัย 5 แห่งในออสเตรีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และสวีเดน โดยบริหารงานในศูนย์บริจาคพลาสมากว่า 180 แห่งทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกา
เกี่ยวกับ Nuwiq(R)
Nuwiq(R) (simoctocog alfa) เป็นโปรตีน recombinant factor VIII (rFVIII) รุ่นที่ 4 ผลิตขึ้นในเซลล์ไลน์มนุษย์โดยไม่มีการดัดแปลงทางเคมีหรือเชื่อมเข้ากับโปรตีนอื่น[1] เพาะเลี้ยงโดยไม่ได้เติมสารที่ได้มาจากมนุษย์หรือสัตว์เข้าไป ไม่มีเอพิโทปโปรตีนที่ไม่ได้มาจากมนุษย์ในลักษณะที่กระตุ้นการสร้างแอนติบอดี และมีความใกล้เคียงสูงกับ von Willebrand factor[1] การรักษาด้วย Nuwiq(R) ได้รับการประเมินทางคลินิกจนเสร็จสิ้นไปแล้ว 7 ครั้ง ซึ่งประกอบด้วยผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย เอ อาการรุนแรง 280 ราย ในจำนวนนี้เคยได้รับการรักษาแล้ว 190 ราย (PTP; 190 ราย) และไม่เคยได้รับการรักษา (PUP) 90 ราย [1] Nuwiq(R) มีวางจำหน่ายในขนาด 250 IU, 500 IU, 1000 IU, 2000 IU, 2500 IU, 3000 IU และ 4000 IU[1] Nuwiq(R) ได้รับการอนุมัติสำหรับใช้รักษาและป้องกันอาการเลือดออกในผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย เอ (ขาดแฟคเตอร์ FVIII ตั้งแต่กำเนิด) ในทุกกลุ่มอายุ[1]
เกี่ยวกับ wilate(R)
วิเลท (wilate(R)) เป็นวอนวิลลิแบรนด์แฟคเตอร์ (VWF) และแฟคเตอร์ แปด (FVIII) เข้มข้นความบริสุทธิ์สูงที่มาจากมนุษย์ โดยผ่านการทำลายไวรัส 2 ขั้นตอนระหว่างการผลิต[2] และไม่มีการเสริมอัลบูมินเพื่อใช้เป็นสารให้ความคงตัว[2] กระบวนการทำให้บริสุทธิ์เหล่านี้ก่อให้เกิดอัตราส่วน 1:1 ระหว่างวอนวิลลิแบรนด์แฟคเตอร์กับแฟคเตอร์ แปดที่คล้ายคลึงกับพลาสมาปกติ[2] วิเลทประกอบด้วยโครงสร้างวอนวิลลิแบรนด์แฟคเตอร์แบบคู่สาม และมีมัลติเมอร์น้ำหนักโมเลกุลสูงจำนวนมากที่ใกล้เคียงกับพลาสมาปกติของมนุษย์[2] วิเลทสร้างขึ้นมาจากพลาสมามนุษย์ที่รวบรวมไว้ในศูนย์บริจาคพลาสมาที่ได้รับการรับรองแล้วเท่านั้น[3] วางจำหน่ายในขนาด 500 IU และ 1000 IU วิเลทมีข้อบ่งใช้ในการป้องกันและรักษาอาการตกเลือดหรือภาวะเลือดออกขณะผ่าตัดรักษาโรควอนวิลลิแบรนด์ (VWD) เมื่อรักษาด้วยยาเดสโมเพรสซิน (DDAVP) อย่างเดียวแล้วไม่ได้ผลหรือห้ามรักษาด้วยวิธีนี้ และเพื่อใช้รักษาและป้องกันภาวะเลือดไหลในผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย เอ (ขาดแคลนแฟคเตอร์ แปด มาตั้งแต่กำเนิด)[3]
ข่าวประชาสัมพันธ์ของอ็อคตาฟาร์มามีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่สื่อสายสุขภาพ/การแพทย์ มิใช่ผู้บริโภคทั่วไป
โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/1802873/Octapharma_Logo.jpg
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit