สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท สุขสวัสดิ์ คอนเวิร์ทติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด เปิดตัว "INNOMALL" ร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มอันดับ 1 ของประเทศไทย ซึ่งได้รวบรวมสินค้าและบริการนวัตกรรมมากถึง 187 รายการ จากผู้ประกอบการนวัตกรรมที่ผ่านการสนับสนุนจาก NIA กว่า 72 บริษัท พร้อมทั้งลงนามความร่วมมือ "โครงการส่งเสริมและสร้างความสามารถด้านการทำธุรกิจนวัตกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของผู้ประกอบการนวัตกรรม" เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้การทำธุรกิจนวัตกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยผู้ประกอบการนวัตกรรมจะได้รับสิทธิเข้าถึงองค์ความรู้ เครื่องมือ และกลไกการส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ตลอดจนสามารถเพิ่มฐานลูกค้าด้วยการสร้างการรับรู้ของสินค้าและบริการนวัตกรรมให้เพิ่มมากขึ้น
รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า "ที่ผ่านมา NIA เป็นที่รู้จักในบทบาทการสนับสนุนทางด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการสำหรับพัฒนาโครงการนวัตกรรมเพื่อสร้างการแข่งขันและเติบโต แต่ครั้งนี้โครงการ "INNOMALL" จะเป็นตัวอย่างกลไกการสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมเพิ่มเติมจากด้านการเงินที่จะช่วยในการปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนโฉมทางดิจิทัล (Digital Transformation) ที่กำลังเผชิญความท้าทายเป็นอย่างมากในการขายสินค้าจากหน้าร้าน และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมมีช่องทางขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนในยุคปัจจุบัน อีกทั้งช่วยลดปัญหาต้นทุนหน้าร้าน และสามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าด้วยการสร้างการรับรู้ของสินค้าและบริการนวัตกรรมให้มากยิ่งขึ้น และเป็นเรื่องน่ายินดีที่เราได้รับความร่วมมือจากช้อปปี้ แพลตฟอร์มอันดับ 1 ในประเทศไทย ซึ่งมีผู้ติดตามมากถึง 18 ล้านราย ทำให้ "INNOMALL" ได้รับความน่าเชื่อถือ และอีกหนึ่งพันธมิตรที่สำคัญ ได้แก่ บริษัท สุขสวัสดิ์ คอนเวิร์ทติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผู้ให้บริการและบริหารจัดการคลังสินค้าพร้อมจัดส่ง (Fulfillment) ให้กับร้านค้าต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำระบบบริหารจัดการให้กับผู้มีชื่อเสียงด้าน Live commerce มากมาย ที่จะเข้ามาช่วยดูแลระบบบริหารจัดการ INNOMALL ของเรา"
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า "วิกฤติโควิด-19 สร้างผลกระทบในการดำรงชีวิตให้กับผู้คนทั่วโลกอย่างมากมาย เกิดเป็นความปกติใหม่ (New Normal) ที่ทุกคนต้องยอมรับและปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้น คือ เกิดการจัดระเบียบเศรษฐกิจใหม่ ในการค้าการขาย ร้านค้าที่เคยมีหน้าร้านต้องปิดตัวลงไปจำนวนมาก ทุกคนต่างต้องสร้างกลยุทธ์ใหม่เพื่อให้ยังอยู่รอดในตลาด แพลตฟอร์มออนไลน์จึงเป็นคำตอบนี้ แต่ความท้าทายที่แท้จริงอยู่ที่เมื่อผู้ประกอบการเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว จะทำอย่างไรให้ร้านค้าออนไลน์สามารถอยู่รอดได้ เพราะไม่ใช่ทุกรายที่กระโดดเข้าไปจะอยู่รอดและเติบโตได้ดังจินตนาการ อันดับแรกผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนกรอบความคิดจากวิธีดำเนินธุรกิจในช่วงสถานการณ์ปกติ ไม่ใช่แค่เพิ่มลดเวลาเปิดปิดร้านค้า ลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาด หรือลดเงินเดือนพนักงานอีกต่อไป แต่หากเป็นการเร่งปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนวิถีชีวิตไปใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านมือถือและแท็บเล็ตที่เปรียบเสมือนอวัยวะหนึ่งของมนุษย์ไปแล้ว ทั้งนี้ NIA เข้าใจถึงความท้าทายในการปรับตัวครั้งนี้ จึงได้ทำสิ่งที่แตกต่างออกไป ด้วยการทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA เข้ากับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเบอร์หนึ่งของประเทศไทย และผู้ให้บริการและบริหารจัดการคลังสินค้าและการจัดส่งชั้นนำของประเทศไทย ให้เข้าถึงกระบวนการทางนวัตกรรม และเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ตั้งแต่การตั้งร้านค้าออนไลน์ วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย ปรับกลยุทธ์ให้สามารถสร้างสรรค์การตลาดให้เหมาะสม และวัดผลเพื่อนำมาปรับปรุง หรือพัฒนาสินค้านวัตกรรมให้ดีขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุคที่มีความไม่แน่นอนสูง"
ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า "NIA ได้พัฒนา "INNOMALL" ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรม ในการทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ร้านค้า (Official Store) บนแพลตฟอร์ม ช้อปปี้ ที่รวบรวมสินค้าและบริการนวัตกรรม 187 รายการ จากผู้ประกอบการนวัตกรรมมากกว่า 72 บริษัท ส่วนที่สองเป็นพื้นที่การเรียนรู้เสมือนจริง (Sandbox) ด้านการสร้างธุรกิจนวัตกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ด้วยการเรียนรู้จริง วางแผนจริง และลงมือปฎิบัติจริง ผ่านกระบวนการพัฒนาทักษะเดิม (Upskill) เพิ่มเติมทักษะใหม่ (Reskill) ซึ่งแบ่งเป็น 2 เฟส คือ เฟสที่ 1 โปรแกรมบ่มเพาะ (Incubator Program) สิ่งที่ผู้ประกอบการจะได้เรียนรู้ ได้แก่ 1. แนวโน้มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ 2. เครื่องมือการขายสินค้าผ่านโซเชียลและไลฟ์คอมเมิร์ซ 3. การตลาดและการพัฒนาเนื้อหาในการขายสินค้า 4. การบริหารจัดการคลังสินค้า 5. ข้อกำหนดและระเบียบการซื้อขายออนไลน์ และ 6. การประเมินและวัดผลผู้สนับสนุน และเฟสที่ 2 โปรแกรมส่งเสริมทักษะขั้นสูง (Enabler Program) ที่จะช่วยฝึกทักษะการวางแผนหรือการจัดกิจกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้บริโภครู้จักสินค้านวัตกรรมได้มากยิ่งขึ้น เช่น ทักษะด้านการไลฟ์ ทั้งนี้ NIA คาดหวังว่าสินค้าและบริการที่เข้าร่วมโครงการ จะมีอัตรายอดขายสินค้าหรือบริการนวัตกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30% จากยอดขายเดิม และยังสามารถเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายนวัตกรรมสู่การลงทุน และการสร้างการเติบโตบนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วยนวัตกรรมดิจิทัล"
นายศิวกร สิริวงศ์ภาณุพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ช้อปปี้ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า "ด้วยพันธกิจหลักขององค์กรในการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศไทย ช้อปปี้ในฐานะผู้นำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยืนหนึ่งในใจนักช้อปชาวไทย เรามุ่งมั่นพัฒนาและสร้างโลกอีคอมเมิร์ซให้เป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับทุกคน อีกทั้งยังตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมงานกับหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรธุรกิจ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้สามารถสร้างธุรกิจบนช่องทางออนไลน์ได้อย่างมีศักยภาพและสามารถเติบโตในเศรษฐกิจยุคดิจิทัลได้อย่างแข็งแกร่งต่อไป"
นายนัยพงษ์ กองบุญมา กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทสุขสวัสดิ์ กล่าวว่า "บริษัทฯ มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ e-Commerce, Social Commerce และ Live Commerce ซึ่งเป็นอนาคตของการซื้อขายสินค้าและบริการที่มีความเป็นนวัตกรรม บริษัทฯ มีหน่วยธุรกิจของเครือข่ายในกลุ่มบริษัท ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมดิจิทัลที่พร้อมร่วมขับเคลื่อนผู้ประกอบการให้สามารถต่อยอดธุรกิจสำหรับตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศอีกด้วย สำหรับโครงการนี้ กลุ่มบริษัทสุขสวัสดิ์มีความยินดีที่จะร่วมมือกับ NIA ในการพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อสนับสนุนภารกิจให้ประสบผลสำเร็จ ดังนี้ 1. การเชื่อมโยงและยกระดับผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงการซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้มากยิ่งขึ้น 2. การพัฒนาความรู้ เสริมสร้างทักษะ และความเข้าใจในการประยุกต์ใช้เครื่องมือดิจิทัล 3. การขับเคลื่อนผู้ประกอบการให้นำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม รวมถึงเสริมศักยภาพในการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น"
NIA มีความมุ่งมั่นในการสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในธุรกิจนวัตกรรม ในการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรมอย่างเป็นระบบอันก่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่าต่อประชาชนเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit