ครั้งแรก! สจล. เปิดตลาดนวัตกรรม KMITL INNOKET 2022 สร้างอาชีพ-เพิ่มรายได้ หนุน "ผู้ว่างงาน-ผู้ประกอบการ" พร้อมโชว์ไฮไลท์สร้างอาชีพด้วยนวัตกรรม เริ่มเพียง 5 พันบาท

26 May 2022

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) รุดเปิดตลาดนวัตกรรมสร้างอาชีพครั้งแรก "เคเอ็มไอทีแอล อินโนเก็ต 2022" (KMITL INNOKET 2022) ตลาดเดียวที่รวบรวมนวัตกรรมที่สามารถสร้างสรรค์เป็นอาชีพใหม่ ต่อยอดธุรกิจ หรือเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ ด้วยงบประมาณลงทุนขั้นต่ำที่ 5,000 บาท หนุนสร้างรายได้ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ตอกย้ำสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำในฐานะผู้นำนวัตกรรมระดับโลก (The World Master of Innovation) โดยภายในงานพบไฮไลท์นวัตกรรมจำนวนมาก อาทิ เครื่องล้างรากผักอัตโนมัติ (Smart Root Washer) และแผ่นตรวจวัดสารเคมีชนิดใช้ซ้ำได้มากกว่า 30 ครั้ง นอกจากนี้ ภายในงานยังมีเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิดด้านนวัตกรรมในการสร้างโอกาสทางธุรกิจและสร้างอาชีพใหม่จากองค์กรชั้นนำของไทย นำโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

ครั้งแรก! สจล. เปิดตลาดนวัตกรรม KMITL INNOKET 2022 สร้างอาชีพ-เพิ่มรายได้  หนุน "ผู้ว่างงาน-ผู้ประกอบการ" พร้อมโชว์ไฮไลท์สร้างอาชีพด้วยนวัตกรรม  เริ่มเพียง 5 พันบาท

รศ. ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันในโลกธุรกิจมีอัตราการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์หรือกระบวนการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความแตกต่าง ผ่านการผนวกเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ทั้งเพื่อลดต้นทุนในการทำธุรกิจและสร้างประสบการณ์ใหม่แก่ผู้บริโภค สจล. สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำในฐานะ "ผู้นำนวัตกรรมระดับโลก" (The World Master of Innovation) ที่มีความก้าวล้ำทางการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่เอื้อประโยชน์ต่อทั้งการใช้ชีวิต การดำเนินธุรกิจ และการทำประโยชน์สู่สังคมโลก ดังนั้น สจล. จึงได้สานต่อวิสัยทัศน์ดังกล่าว เดินหน้าจัดงาน "เคเอ็มไอทีแอล อินโนเก็ต 2022" (KMITL INNOKET 2022) ตลาดนวัตกรรมสร้างอาชีพและต่อยอดธุรกิจขึ้น ที่มุ่งนำเสนอให้เห็นถึงโอกาสของการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไปต่อยอดธุรกิจ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการที่สร้างความแตกต่างเหนือคู่แข่ง หรือกระทั่งสร้างเป็นอาชีพใหม่เพื่อเป็นรายได้เสริมในอนาคต ด้วยงบประมาณลงทุนขั้นต่ำที่ 5,000 บาท หลังสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าที่ผลิตภายในประเทศให้แข็งแรงและเติบโตพร้อมขยายโอกาสไปสู่ตลาดโลก

รศ. ดร.อนุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงานพบไฮไลท์นวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาโดยคณาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษา สจล. จำนวนมาก อาทิ เครื่องล้างรากผักอัตโนมัติ (Smart Root Washer) นวัตกรรมที่ช่วยให้วิสาหกิจชุมชนและผู้ที่ปลูกผักในพื้นที่จำกัด สามารถคัดล้างผลผลิตให้สะอาดในมาตรฐานเดียวกัน และพร้อมจัดส่งถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ตลอดจนลดการใช้แรงคน และลดการสูญเสียที่เกิดแรงงานลงไปได้ โดยนวัตกรรมดังกล่าวมีราคาเริ่มต้นที่ 25,000 บาท แผ่นตรวจวัดสารเคมีชนิดใช้ซ้ำได้มากกว่า 30 ครั้ง นวัตกรรม Re-SERS Chips แผ่น SERS ถูกพัฒนาเพื่อใช้ตรวจวัดสารเคมี ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์เอกลักษณ์ของสารเคมีได้อย่างแม่นยำ และสามารถตรวจสอบร่องรอยของสารเคมีที่มีความเข้มข้นต่ำได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถใช้ตรวจสอบสารเคมีได้หลายประเภท เช่น ยาฆ่าแมลง สารวัตถุระเบิด ส่วนประกอบของยา ยาเสพติด เป็นต้น อีกทั้งยังมีอายุการใช้งานนานกว่า 6 เดือน โดยนวัตกรรมดังกล่าวราคาเริ่มต้น 200,000 บาท

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีบูธ 'คลินิกธุรกิจอาหาร' (Pop-Up Clinic) จากคณะอุตสาหกรรมอาหาร ที่พร้อมให้คำปรึกษาสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารถึงกลยุทธ์ในการบริหารกิจการ พร้อมด้วยหลักสูตรระยะสั้น (Short Course) สำหรับผู้เริ่มต้นธุรกิจตอบโจทย์เทรนด์ธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติจริง อีกทั้งยังมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนแนวคิดด้านนวัตกรรม ในงานเสวนานวัตกรรมสร้างโอกาสทางธุรกิจ - สร้างอาชีพใหม่ จาก 3 องค์กรชั้นนำ ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สู่การต่อยอดเป็นไอเดียในการสร้างอาชีพ-การทำธุรกิจ ตลอดจนสร้างโอกาสทำกินรูปแบบใหม่ให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำและผู้พ้นโทษ เป็นต้น

"สจล. มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมไปถึงความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินธุรกิจ ทั้งด้านการพัฒนาสินค้าและบริการที่สามารถสร้างความแปลกใหม่ให้สินค้า เพื่อสร้างจุดขายให้กับผู้บริโภค อีกทั้งยังสามารถนำมาต่อยอดในการตลาดใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจแบบก้าวกระโดด" รศ. ดร.อนุวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ งานตลาดนวัตกรรมสร้างอาชีพ "เคเอ็มไอทีแอล อินโนเก็ต 2022" (KMITL INNOKET 2022) จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์ กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือตามติดแรงบันดาลใจในการพัฒนานวัตกรรมสร้างอาชีพทางเพจ www.facebook.com/kmitlofficial โทรศัพท์ 02-329-8111

HTML::image(