นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับ ดร. เจิ่น แทงห์ นาม (H.E. Mr. Tran Thanh Nam) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อกระชับความสัมพันธ์และหารือความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในโอกาสที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้เดินทางมาร่วมงาน Agritechnica Asia & Horti Asia 2022 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพร่วมกับ German Agriculture Society (DLG) ณ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา
ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้กล่าวขอบคุณประเทศไทยที่ให้การต้อนรับ และหารือความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1) ความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางเกษตร 2) การสร้างความเข้มแข็งให้แก่สหกรณ์การเกษตร ซึ่งฝ่ายเวียดนามเห็นว่าประเทศไทยมีสหกรณ์การเกษตรที่เข้มเข็งและมีชื่อเสียงด้านผลิตภัณฑ์ OTOP จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่มาดูงานด้านสหกรณ์ในประเทศไทย 3) การสนับสนุนให้เกษตรกรใช้เครื่องมือทางการเกษตรแทนแรงงานคน 3) การอบรมเกษตรกร 4) ความร่วมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary: SPS) และ 5) ความร่วมมือด้านสหกรณ์
ในส่วนของฝ่ายไทย ยินดีให้การสนับสนุนเวียดนามในประเด็นดังกล่าวและเห็นว่าทั้งสองประเทศมีกลไกความร่วมมือด้านการเกษตรและความร่วมมือด้าน SPS ระหว่างกัน จึงขอความร่วมมือในการดำเนินการต่าง ๆ คือ 1) ขอให้ฝ่ายเวียดนามเร่งแจ้งชื่อผู้ประสานงานหลัก (Contact Point) และเร่งเป็นเจ้าภาพจัดประชุม SPS ครั้งที่ 2 2) ขอให้เวียดนามสนับสนุนการจัดตั้งสภายางอาเซียน (ASEAN RUBBER COUNCIL : ARCo) เพื่อร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา สนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยาง และเพิ่มอำนาจการต่อรองของกลุ่มอาเซียน 3) เสนอให้ไทยและเวียดนามร่วมมือกันเรื่องข้าวตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อยกระดับการส่งออกข้าวให้เป็นอันดับหนึ่งของโลก 4) ขอให้ฝ่ายเวียดนามเร่งรัดการอนุญาตนำเข้ามะม่วงและเงาะจากไทยตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันตั้งแต่ปี 2559 รวมทั้งการส่งออกลูกไก่และไข่ฟักพ่อแม่พันธุ์จากไทยไปเวียดนาม ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นให้ชอบให้นำประเด็นดังกล่าวไปหารือเพิ่มเติมในการประชุม SPS 5) ขอให้ฝ่ายเวียดนามพิจารณาจัดสรรคิวรถขนส่งผลไม้สดซึ่งเป็นสินค้าเน่าเสียง่ายของไทยที่จะผ่านด่านเวียดนามไปจีนเป็นกรณีพิเศษ 6) เสนอให้ความร่วมมือด้านโลจิสติกส์การเกษตรระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม ผ่านท่าเรือหวงอาง (Vung Ang) ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขนส่งสินค้าเกษตรไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน 7) ประเทศไทยสนใจที่จะเรียนรู้เรื่อง One Country One Product (OCOP) ของเวียดนามเช่นกัน ทั้งนี้ ฝ่ายเวียดนามเห็นควรให้มีการหารือในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ในช่วงการจัดงาน Agritechnica ที่ฝ่ายเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2565 โดยจะมีหนังสือเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมงานอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป