สสส. เดินหน้าต่อยอดงาน ThaiHealth Watch 2022 หลังโควิด-19 กระทบการกินคนไทยไร้สมดุลอย่างหนัก อาหารไขมันท่วม 42% แปรรูป 39% ดื่มน้ำหวานถี่ 34% ซ้ำ กินผักผลไม้ไม่ถึงเกณฑ์ เสี่ยง! ป่วย NCDs ดึง กูรู ชวนปรับพฤติกรรมดูแลสุขภาพ-สร้างความตระหนักรู้กินไม่ขาด-เกิน มุ่งเสริมการบริโภคอาหารตามหลักโภชนาการอย่างสมดุล
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม ThaiHealth Watch 2022 The Series หัวข้อ "เรื่องกินเรื่องใหญ่ กินอย่างไร ไม่ขาด ไม่เกิน" ในรูปแบบถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจและยูทูบช่อง ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์กว่า 1,000 คน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า 1 ใน 10 เทรนด์สุขภาพคนไทย ปี 2565 โดย Thaihealth Watch 2022 สสส. คือการบริโภคที่ขาดสมดุล ล้นเกิน หรือขาดแคลน จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้วิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนไป จากข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพของประชากร ปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจ 84,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ พบพฤติกรรมของคนไทยที่นิยมรับประทานเป็นประจำ หรือความถี่ 3-7 วันต่อสัปดาห์ คือ อาหารไขมันสูง 42% อาหารแปรรูป 39% และเครื่องดื่มเติมน้ำตาลบรรจุขวดที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 34% กลายเป็นรายจ่ายของครัวเรือนเฉลี่ย 7,450 บาทต่อสัปดาห์ สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยกำลังขาดความมั่นคงทางอาหาร และยังเสี่ยงต่อการป่วยโรค NCDs ในระยะยาว
"ช่วงเปิดเทอมนี้ เด็กวัยเรียน อายุ 6-14 ปี ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะเป็นวัยที่มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารกลุ่มเสี่ยงเป็นประจำ และยังพบว่า สัดส่วนการกินผักที่เหมาะสมอยู่ที่ 63% ส่วนการกินผลไม้ที่เหมาะสมมีเพียง 1 ใน 3 ของมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเท่านั้น ท่ามกลางการบริโภคแบบขาด ๆ เกิน ๆ นี้ สสส. ได้เร่งต่อยอดการดำเนินงานสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างความรู้ ความเข้าใจ และรณรงค์ให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมถูกต้องอย่างยั่งยืน ผู้สนใจติดตามข้อมูลได้ที่ https://resourcecenter.thaihealth.or.th/" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
นางสาวแววตา เอกชาวนา นักโภชนาการ และที่ปรึกษาโครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม สสส. กล่าวว่า คนไทยมีการบริโภคอาหารแปรรูปมากขึ้น กินผักและผลไม้น้อยลง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการรับสารเคมี เช่น ไนเตรท ไนไตรท์ หรือสารยืดอายุอาหาร รวมถึงขาดวิตามิน และแร่ธาตุ สิ่งสำคัญคือ การวางแผนการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อให้เหมาะสมกับช่วงวัย ลดการกินจุบจิบระหว่างมื้อ ลดอาหารไขมันสูง และเครื่องดื่มชง ไม่ควรรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูปเกิน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เพราะมีไขมันอิ่มตัวและสารเคมีที่เข้าไปสะสมในร่างกาย และควรรับประทานผักและผลไม้เพิ่มในทุกมื้อเพื่อสร้างสมดุล
นายชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต นายแบบและนักแสดงที่ใส่ใจสุขภาพ กล่าวว่า สุขภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องดูแลใส่ใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นดาราหรือนายแบบ นอกจากการออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหารถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการมีสุขภาพที่ดีคือกำไรชีวิตในระยะยาว ส่วนตัวรับประทานอาหารแบบนับแคลอรี่ มีการวางแผนที่ยืดหยุ่น เช่น ถ้ามื้อนี้อยากรับประทานของทอด มื้อถัดไปก็จะเลือกกินสลัด หรือถ้ามื้อนี้รับประทานของหวาน มื้อถัดไปจะลดน้ำตาลลง เพื่อให้เกิดความสมดุลในการใช้ชีวิตโดยที่ไม่ต้องบังคับหรือฝืนตัวเองจนอาจส่งผลเสียต่อจิตใจ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit