ภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2565

31 May 2022

"เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนเมษายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นในภาคใต้ และภาคตะวันออก อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลต่อค่าครองชีพ และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น"

ภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2565

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2565 ว่า "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนเมษายน 2565 ได้รับปัจจัยปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นในภาคใต้ และภาคตะวันออก อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลต่อค่าครองชีพ และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น" โดยมีรายละเอียดดังนี้

เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนเมษายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 19.0 และ 5.6 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 30.2 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 23.4 และ 2.0 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวร้อยละ 44.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยเงินทุน 0.4 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (น้ำเสียจากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม) ในจังหวัดชุมพร เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัวร้อยละ 65.0 และ 141.8 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 37.3 และ 83.4 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 38.4 และ 86.8 ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคตะวันออกในเดือนเมษายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 38.0 และ 22.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ สำหรับจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่แม้ว่าชะลอตัวลงร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่รายได้เกษตรกรชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 273.0 ด้วยเงินทุน 7.3 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า และผลิตไอน้ำ ในจังหวัดระยอง เป็นสำคัญ สำหรับจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลงร้อยละ -10.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ด้านอุปทาน มีสัญญาณฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัวร้อยละ 204.3 และ 223.3 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 43.7 และ 109.4 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 44.8 และ 111.6 ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคเหนือในเดือนเมษายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 6.6 และ 11.7 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่แม้ว่าชะลอลงร้อยละ -14.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลงร้อยละ -3.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัวร้อยละ 67.2 และ 70.3 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 43.8 และ 62.2 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 44.9 และ 64.8 ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนเมษายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชนทรงตัว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 10.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่แม้ว่าชะลอตัวลงร้อยละ -9.7แต่ขยายตัวร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคา และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนสะท้อนจาก สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 404.9 ด้วยเงินทุน 3.5 พันล้านบาท จากโรงงานการทำอาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงสัตว์ ในจังหวัดนครราชสีมา เป็นสำคัญ สำหรับจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่แม้ว่าชะลอลงร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัวร้อยละ 192.3 และ 177.5 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 45.1 และ 79.4 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 46.2 และ 83.5 ตามลำดับ

เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑลในเดือนเมษายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนทรงตัว สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมยังปรับตัวลดลง

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 17.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลงร้อยละ -7.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่แม้ว่าชะลอลงร้อยละ -11.1 และ -9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 3.2 และ 7.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับสำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 21.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 17.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลงร้อยละ -2.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัวร้อยละ 170.4 และ 145.4 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 38.9 และ 85.3 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 40.3 และ 87.7 ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคตะวันตกในเดือนเมษายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจาก รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.2 ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ แม้ว่าชะลอตัวลงร้อยละ -0.1 และ -10.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ แต่ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.04 และ 2.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัวร้อยละ 189.1 และ 114.1 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 40.1 และ 85.3 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 41.4 และ 87.7 ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคกลางในเดือนเมษายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง

ด้านอุปสงค์ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่แม้ว่าจะชะลอลงร้อยละ -2.2 และ -11.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 9.2 และ 2.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สำหับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ด้านอุปทาน มีสัญญาณการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรวมขยายตัวร้อยละ 226.3 และ 176.7 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 40.1 และ 85.3 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 41.4 และ 87.7 ตามลำดับ