TCMA ผนึก มหาดไทย สนับสนุนนโยบาย Thailand Net Zero เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก)

17 Aug 2022

การขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นสิ่งสำคัญที่ทั่วโลกกำลังร่วมมือกันดำเนินการ เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคม-อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย หรือ TCMA ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการส่งเสริมการใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก สำหรับการก่อสร้างของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระหว่าง กระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมืองกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาต-เทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสมาคมอุตสาหกรรม-ปูนชีเมนต์ไทย ณ ห้องประชุมราชบพิธ อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย เมื่อเร็วๆนี้

TCMA ผนึก มหาดไทย สนับสนุนนโยบาย Thailand Net Zero เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก)

ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสุเมธ มีนาภา รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ นายกเทศมนตรีเมืองสนั่นรักษ์ ผู้แทนนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายสำราญ จันทร์ขจร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวไผ่ ผู้แทนนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทยและอีกหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยให้เกียรติร่วมงาน เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และขับเคลื่อนการใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก) ในการก่อสร้างของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดงานก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนนโยบาย Thailand Net Zero

สำหรับแนวทางการดำเนินการ กระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะสนับสนุน ส่งเสริม ปรับปรุงกฎระเบียบ คู่มือมาตรฐาน และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน เพื่อให้ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตาบลแห่งประเทศไทย นำวัสดุก่อสร้างประเภทปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก) ไปใช้ในงานก่อสร้างประเภทต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนสร้างความรู้ความเข้าใจในการส่งเสริมใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก) และติดตามประเมินผลเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

ด้าน สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย หรือ TCMA จะส่งเสริมให้สมาชิก TCMA ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทุกรายของประเทศ วิจัย พัฒนา และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และจัดกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ การใช้งาน และประโยชน์ เกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างประเภทปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก) ให้แก่ส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการนำไปใช้งานอย่างแพร่หลาย

"ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก" มาตรฐาน มอก. 2594 เป็นพัฒนาการด้านวัสดุศาสตร์ ที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ได้อย่างครบถ้วน นอกจากสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ซึ่งเปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ให้กับโลกของเราแล้ว ยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักการ Bio-Circular-Green Economy (BCG) และนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society)

นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า "TCMA ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย ที่ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจก และทำทันที ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมให้ส่วนราชการในสังกัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก) อันเป็นการสนองตอบต่อนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ภายใต้มาตรการทดแทนปูนเม็ด จะช่วยให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และในวันนี้ด้วยการสนับสนุนของกระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงค่อนข้างมั่นใจ ที่เราจะร่วมกันบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่ตั้งใจไว้ได้ ดังนั้น สมาชิก TCMA ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยทุกราย จึงจะเร่งนำปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก) มอก. 2594 เข้าสู่การใช้งานแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภท 1 ทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2566 ซึ่งจะทำให้ลดก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่า 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เทียบเท่าการปลูกต้นไม้กว่า 122 ล้านต้นเลยทีเดียว และผู้ผลิตพร้อมยกเลิกการผลิตปูนซีเมนต์ชนิดเดิมที่ปล่อย CO2 สูง ในต้นปี พ.ศ. 2567"

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยเป็นภาคีสำคัญเพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยและโลกใบนี้ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาติ ถือเป็นเป้าหมายเดียวกันของนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยรักษาโลกใบเดียวของเราที่มีอยู่ให้คงอยู่มีอายุยืนยาว อยู่รอดปลอดภัยจากภาวะโลกร้อนตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26 อย่างชัดเจนว่า "เราไม่มีแผนสำรอง No Plan B เพราะเรามีโลกใบเดียวเท่านั้น ที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของมวลมนุษยชาติ"

"การลงนามร่วมกันในบันทึกความเข้าใจวันนี้ ภายใต้วัตถุประสงค์สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ (1) บูรณาการความร่วมมือในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแต่ละภาคส่วนที่จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการก่อสร้างของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดงานก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (2) ส่งเสริมสนับสนุนให้ส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการก่อสร้างด้วยการปรับปรุงกฎระเบียบ คู่มือมาตรฐาน และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน (3) ร่วมกันจัดทำข้อมูลสำหรับการติดตามและประเมินผลการใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการก่อสร้างของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และ (4) ร่วมกันดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการใช้งานวัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการก่อสร้างประเภทต่างๆ ของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น"

HTML::image(