"เอ็นไอเอ" อัพเลเวลวงการนวัตกรรมผ่าน "ดีพเทคยูนิเวอร์ซิตี้" เร่งสปีดสตาร์ทอัพ "สายอารีเทค" มีทุน พร้อมเชื่อมสู่ตลาดนวัตกรรมระดับประเทศ

18 Aug 2022

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน มหาวิทยาลัยเครือข่าย และ สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร (RISE) จัดกิจกรรมเปิดหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความสามารถทางธุรกิจสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพ นักวิจัย และผู้สร้างนวัตกรรม โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพนวัตกรให้มีแนวคิดเชิงธุรกิจในกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) พร้อมเพิ่มโอกาสการเข้าถึงนักลงทุนผ่านการสร้างเครือข่ายระหว่างสตาร์ทอัพ นักวิจัย และภาคการลงทุน เพื่อก่อให้เกิดการขับเคลื่อนและเพิ่มความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรมในเทคโนโลยีขั้นสูงระดับประเทศได้ต่อไป ภายใต้โครงการ "โครงการเร่งสร้างธุรกิจสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกจากมหาวิทยาลัยเพื่อการต่อยอดสู่แหล่งทุนและกลไกสนับสนุนการเงินที่เกี่ยวข้อง" หรือ Deep Tech University

"เอ็นไอเอ" อัพเลเวลวงการนวัตกรรมผ่าน "ดีพเทคยูนิเวอร์ซิตี้" เร่งสปีดสตาร์ทอัพ "สายอารีเทค" มีทุน พร้อมเชื่อมสู่ตลาดนวัตกรรมระดับประเทศ

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสตาร์ทอัพและนักวิจัยที่กำลังพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเชิงลึกอยู่จำนวนไม่น้อย แต่ยังขาดแหล่งเงินทุนสำหรับใช้พัฒนานวัตกรรม และโอกาสในการนำนวัตกรรมออกสู่ตลาด ซึ่งโครงการเร่งสร้างธุรกิจสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกจากมหาวิทยาลัยเพื่อการต่อยอดสู่แหล่งทุนและกลไกสนับสนุนการเงินที่เกี่ยวข้องนี้ จะเข้ามาช่วยผลักดันให้สตาร์ทอัพและนักวิจัยกลุ่มนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนวัตกรรม รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการสร้างเครือข่ายระหว่างสตาร์ทอัพ นักวิจัย และนักลงทุน เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่พร้อมนำไปสู่การใช้งานต่อไป ทั้งนี้ NIA หวังว่าการจัดอบรมจะช่วยเร่งสปีดการต่อยอดนวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่พร้อมเติบโตจากห้องแล็บสู่ตลาด พร้อมจะขยายโอกาสทางธุรกิจและการระดมทุนให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม

"โครงการ Deep Tech University ต้องการเปิดโอกาสให้นักวิจัยและสตาร์ทอัพที่มีผลงานนวัตกรรมในธุรกิจกลุ่ม "ARI TECH" ซึ่งประกอบด้วย เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI) เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) และ เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Immmersive) ซึ่งคาดการณ์ว่าในอนาคตนวัตกรรมกลุ่มนี้จะเป็นเทคโนโลยีที่มีมูลค่ามหาศาลและน่าจับตามอง ดังนั้น สตาร์ทอัพและนักวิจัยที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องมีระดับความพร้อมของเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรม (Technology Readiness Levels; TRL) อยู่ในระดับ 4-8 หรือช่วงการพัฒนาต้นแบบ - ช่วงการผลิตหรือการใช้งานต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้ในการระดมทุนในระดับ Pre-Seed (กลุ่มผู้ประกอบการที่มีเพียงไอเดีย เพิ่งเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการ ธุรกิจ) จนถึงระดับกำลังจัดตั้งบริษัท มีสินค้าหรือบริการที่อยากจะพัฒนาเข้าสู่ตลาดให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น หรือ Seed round" ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับคำปรึกษาจากวิทยากรชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการนวัตกรรมมาร่วมบรรยายและให้คำแนะนำจากประสบการณ์จริง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้และพัฒนานวัตกรรมเพื่อต่อยอดธุรกิจได้ในระยะเวลาโครงการ 9 สัปดาห์ โดยจะมีกิจกรรม Demo Day ให้ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายได้นำเสนอโครงการกับนักลงทุน เพื่อสร้างโอกาสการร่วมงานและหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมต่อไป

"เอ็นไอเอ" อัพเลเวลวงการนวัตกรรมผ่าน "ดีพเทคยูนิเวอร์ซิตี้" เร่งสปีดสตาร์ทอัพ "สายอารีเทค" มีทุน พร้อมเชื่อมสู่ตลาดนวัตกรรมระดับประเทศ